Abstract | การศึกษาเทคนิคการเพิ่มผลผลิตและคุณค่าทางโภชนะของหญ้าพืชอาหารสัตว์ ในสภาพพื้นที่ลุ่มดินทราย ได้ทำการทดลองที่พื้นที่แปลงหญ้าพืชอาหารสัตว์ สำนักงานไร่ฝึกทดลองและห้องปฏิบัติการกลาง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในช่วงระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม 2550 ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2551 งานศึกษาแบ่งออกเป็น 2 การทดลอง ได้แก่ 1) อิทธิพลของช่วงเวลาการตัดที่มีต่อผลผลิตและคุณค่าทางโภชนะของหญ้าพลิแคทูลัมพืชอาหารสัตว์อายุหลายปี และ 2) การเพิ่มผลผลิตและความคงอยู่ของหญ้าพืชอาหารสัตว์ในสภาพพื้นที่ลุ่มและน้ำท่วมขัง โดยใช้แผนการทดลองแบบ randomized complete block design (RCBD)
การทดลองที่ 1 มีตำรับการทดลองจำนวน 6 วิธีการ ๆ ละ 4 ซ้ำ ได้แก่ (T1) การตัดเก็บเกี่ยวผลผลิตทุก ๆ 25 วัน (T2) การตัดเก็บเกี่ยวผลผลิตทุก ๆ 35 วัน (T3) การตัดเก็บเกี่ยวผลผลิตทุก ๆ 45 วัน (T4) การตัดเก็บเกี่ยวผลผลิตทุก ๆ 55 วัน (T5) การตัดเก็บเกี่ยวผลผลิตทุก ๆ 65 วัน และ (T6) การตัดเก็บเกี่ยวผลผลิตทุก ๆ 75 วัน ทั้งในสภาพแปลงหญ้าพลิแคทูลัมพืชอาหารสัตว์ปลูกใหม่และแปลงพลิแคทูลัมพืชอาหารสัตว์เก่าที่ใช้ประโยชน์ผ่านมาแล้ว ผลการศึกษาพบว่า ตำรับการทดลอง T2 ทำให้ผลผลิตน้ำหนักแห้งทั้งหมดของหญ้าพลิแคทูลัมสูงสุด คือ 2,079.00 และ 2,600.00 กก./ไร่ ในสภาพแปลงหญ้าพลิแคทูลัมปลูกใหม่และแปลงหญ้าพลิแคทูลัมเก่าที่ใช้ประโยชน์ผ่านมาแล้ว ตามลำดับ (p<0.05) การตัดเก็บเกี่ยวโดยตำรับการทดลอง T4, T5 และ T6 มีผลทำให้ผลผลิตน้ำหนักแห้งต้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกสภาพแปลงปลูกหญ้าพลิแคทูลัม และทำให้ผลผลิตน้ำหนักแห้งของลำต้นเพิ่มขึ้นแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ขณะที่ผลผลิตน้ำหนักแห้งของใบและอัตราส่วนระหว่างผลผลิตน้ำหนักแห่งของใบและลำต้นสูงสุดในหญ้าพลิแคทูลัมที่จัดการโดยตำรับการทดลอง T2 ในทุกสภาพแปลงปลูก (p<0.05) ด้านลักษณะทางสัณฐานวิทยาพบว่าการตัดการตัดเก็บเกี่ยวผลผลิตแต่ละช่วงเวลาความถี่ทำให้จำนวนต้นกอ จำนวนแขนง และจำนวนใบต่อแขนงแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) และตำรับการทดลอง T6 มีผลทำให้ร้อยละของ NDF และ ADF มีค่าสูงสุด คือ 73.25 และ 46.63% ในสภาพแปลงหญ้าพลิแคทูลัมที่ปลูกใหม่และเคยใช้ประโยชน์มาก่อน ตามลำดับ และลำดับการทดลอง T1 ทำให้เปอร์เซ็นต์ NDF และ ADF ต่ำสุด แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้มีปริมาณโปรตีนหยาบสูงสุดที่ระดับ 12.92% (p<0.05) ส่วนองค์ประกอบทางเคมีเปลี่ยนแปลงตามช่วงความถี่มาก ทำให้ปริมาณธาตุไนโตรเจนเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด แต่การเพิ่มเวลาช่วงในการตัดเก็บเกี่ยวผลผลิตหญ้าพืชอาหารสัตว์ทำให้ปริมาณธาตุฟอสฟอรัส และโปแตสเซียม มีแนวโน้มลดลง
การทดลองที่ 2 มีตำรับการทดลอง 8 วิธีการ ๆ ละ 4 ซ้ำ คือ (T1) การปลูกหญ้าพาสพาลัมอุบลและไม่ปลูกถั่วผสม (T2) การปลูกหญ้าพาสพาลัมอุบลและปลูกถั่วผสมแบบยกร่องปลูก (T3) การปลูกหญ้าพลิแคทูลัมและไม่ปลูกถั่วผสม (T4) การปลูกหญ้าพลิแคทูลัมและปลูกถั่วผสมแบบยกร่องปลูก (T5) การปลูกหญ้าซีตาเรียและไม่ปลูกถั่วผสม (T6) การปลูกหญ้าซีตาเรียและปลูกถั่วผสมแบบยกร่องปลูก (T7) การปลูกหญ้าขนและไม่ปลูกถั่วผสม และ (T8) การปลูกหญ้าขนและปลูกถั่งผสมแบบยกร่องปลูก ผลการทดลองพบว่า ตำรับการทดลอง T2 ให้ผลผลิตน้ำหนักแห้งรวมของหญ้าและถั่วพืชหารสัตว์ และผลผลิตน้ำหนักแห้งทั้งหมดของหญ้าพืชอาหารสัตว์สูงสุด คือ 7,989.32 และ 7,245.71 กก./ไร่ ตามลำดับ (P<0.05) ด้านผลผลิตน้ำหนักแห้งของถั่วท่าพระสไตโลสูงสุด คือ 904.08 กก./ไร่ ในตำรับการทดลอง T4 แต่ไม่ทำให้ผลผลิตน้ำหนักแห้งของถั่วพระสไตโลเพิ่มขึ้นแตกต่างกันทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบกับ T1, T5 และ T8 ที่ให้ผลผลิตน้ำหนักแห้งของถั่วท่าพระสไตโลเท่ากับ 743.61, 865.67 และ 891.37 กก./ไร่ ตามลำดับ ในส่วนของลักษณะทางสัณฐานวิทยาพบว่า จำนวนแขนง จำนวนใบ และพื้นที่ใบของหญ้าพืชอาหารสัตว์มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างตำรับการทดลองภายใต้สภาพพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมขัง ซึ่งจำนวนแขนงต่อต้นสูงสุด 37.51 แขนงในตำรับการทดลอง T5 (p<0.05) และวิธีการปลูกตามตำรับการทดลอง T8 ทำให้ส่วนของจำนวนใบต่อแขนงสูงสุด คือ 7.96 ใบ (p<0.05) ขณะที่พื้นที่ใบต่อแขนงสูงสุดคือ 409.90 ตร.ซม. โดยที่การปลูกหญ้าและถั่วแบบยกร่องวิธีต่าง ๆ วิธีการตำรับการทดลอง T4 ทำให้ร้อยละของ NDF มีค่าสูงสุดที่ 69.98% และร้อยละ ADF มีค่าสูงสุดที่ระดับ 46.15% โดยตำรับการทดลอง T1 (p<0.05) อย่างไรก็ตามไม่พบความแตกต่างของปริมาณโปรตีนหยาบของหญ้าพืชอาหารสัตว์ในแต่ละตำรับการทดลองแต่ปริมาณโปรตีนหยาบรวมแตกต่างกันระหว่างตำรับการทดลอง โดยตำรับการทดลอง T8 ให้ปริมาณโปรตีนหยาบสูงสุดที่ 14.30% (p<0.05)
|