การศึกษาการบริหารจัดการธุรกิจชุมชน : กรณีศึกษาบ้านโนนสว่าง ตำบลโพนงาม อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี

Titleการศึกษาการบริหารจัดการธุรกิจชุมชน : กรณีศึกษาบ้านโนนสว่าง ตำบลโพนงาม อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2551
Authorsวรพงศ์ รูปเลิศ
Degreeศิลปศาสตรมหาบัณฑิต -- สาขาวิชาสังคมศาสตร์และการพัฒนา
Institutionคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberHD ว223ก
Keywordsกลุ่มธุรกิจชุมชนบ้านโนนสว่าง, การจัดการธุรกิจชุมชน--อุบลราชธานี, การจำหน่าย, การตลาด, การบริการ, การบริหารจัดการธุรกิจ, การผลิต, ธุรกิจชุมชน, บ้านโนนสว่าง
Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อศึกษาการบริหารจัดการธุรกิจ 2) เพื่อศึกษาผลการดำเนินธุรกิจชุมชน 3) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะเพื่อเพิ่มศักยภาพในการบริการจัดการธุรกิจชุมชนบ้านโนนสว่าง ตำบลโพนงาม อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
ประชากรที่ใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ จำนวน 15 คน ประกอบด้วย ชาวบ้านที่อาวุโส 2 คน ผู้ใหญ่บ้าน 1 คน ปราชญ์ชาวบ้าน 1 คน คณะกรรมการเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน 2 คน ตัวแทนกลุ่มทอผ้า กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า กลุ่มฝ้ายแก้ว กลุ่มฝ้ายไทย กลุ่มสมคิดผ้าฝ้าย กลุ่มผ้าฝ้ายมัดย้อม กลุ่มปอยฝ้าย กลุ่มละ 1 คน โดยใช้เครื่องมือในการวิจัยจากแบบสัมภาษณ์เจาะลึก การสังเกตอย่างมีส่วนร่วม นำเสนอผลงานการศึกษาวิจัยโดยวิธีพรรณนาวิเคราะห์
ผลการวิจัยพบว่า
(1)การบริหารจัดการธุรกิจชุมชนบ้านโนนสว่าง สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ คือ 1)ระยะที่ 1 ยุคก่อตัวเริ่มจากการทอผ้าจากภูมิปัญญาของหมู่บ้านนำใช้ประโยชน์ภายในครอบครัวและจำหน่ายผ้าพื้นให้กับเพื่อนบ้านเพื่อนำไปตัดเย็บเสื้อผ้าในราคาพื้นบ้านโดยไม่คิดเป็นสินค้าเพื่อหากำไร เป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าใช้สอยภายในครัวเรือน ต่อมาทางราชการเห็นความสำคัญจึงได้นำครูฝึกมาสอนการทอผ้าด้วยกี่กระตุก 2)ระยะที่ 2 ยุคเติบโต หน่วยงานภาครัฐได้ส่งครูฝึกมาสอนเพิ่มทักษะการทอผ้าพื้นหลากหลายชนิด เช่น ยกตัวอักษร ลายไทย รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้ส่งเสริมให้ข้าราชการใส่เสื้อผ้าลายไทย ทำให้การทอผ้าพื้นของกลุ่มทอผ้าบ้านโนนสว่าง เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากข้าราชการภายในอำเภอเดชอุดมและจังหวัดอุบลราชธานี สมาชิกบางคนต้องปรับเปลี่ยนอาชีพหลักจากการทำนามายึดการทอผ้าเป็นอาชีพหลัก อาชีพรองคือการทำนา 3)ระยะที่ 3 ยุคพัฒนา มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากการส่งเสริมจากหน่วยงานของรัฐ มีการแยกกลุ่มโดยได้รับอนุมัติจากการนำเข้าประชาคมหมู่บ้านและจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนออกเป็น 7 กลุ่ม แบ่งเป็นการจัดตั้งกลุ่มออกเป็น 2 ลักษณะคือ 1) กลุ่มที่ไม่มีงบประมาณจากราชการสนับสนุน คือ กลุ่มสมคิดผ้าฝ้าย กลุ่มผ้าฝ้ายมัดย้อม กลุ่มปอยฝ้าย 2)กลุ่มที่หน่วยงานราชการให้คำแนะนำก่อตั้งกลุ่มและมีงบประมาณสนับสนุน คือ กลุ่มทอผ้า กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า กลุ่มฝ้ายแก้ว กลุ่มฝ้ายไทย การบริหารของกลุ่มธุรกิจชุมชนส่วนมากจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ ประธาน รองประธาน เหรัญญิก เลขานุการ ประชาสัมพันธ์ โดยมีคณะกรรมการเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนหมู่บ้าน กำกับ ดูแล ประสานงาน
(2)ผลการดำเนินงานธุรกิจชุมชน จากประสบการณ์ตรงของสมาชิกกลุ่มประกอบกับนโยบายของรัฐส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่ยอมรับของลูกค้า การจำหน่ายจะมีการวางแผนการผลิตสินค้าขายปลีกตามสถานที่ต่าง ๆ โดยคำนึงถึงวัฒนธรรม ประเพณีและเทศกาลตามสภาพพื้นที่ การขายส่งแต่ละกลุ่มจะไม่มีการวางแผนเพราะจะดำเนินการต่อเมื่อได้รับการสั่งซื้อจากลูกค้า ทุกกลุ่มได้รับการจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยมีคณะกรรมการเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน เป็นผู้ประสานงาน จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ของแต่ละกลุ่มมีประเภท ชนิด เป็นอัตลักษณ์ของตนเอง จนได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากศูนย์อำนวยการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ ตั้งแต่ระดับสองดาว ถึงสี่ดาว นอกจากนี้ยังได้รับการยอมรับจากสถาบันการเงินของรัฐสามารถกู้ยืมเงินมาลงทุนโดยไม่จำกัดวงเงิน
(3)ปัญหา อุปสรรค ที่เกิดขึ้นในระหว่างดำเนินการ สามารถแยกออกได้ 2 ด้าน คือ 2)ด้านบุคคล เกี่ยวกับการขาดการสืบทอดภูมิปัญญาของชุมชน ขาดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมทั้งไม่เข้าใจหลักการขายสินค้า 2) ด้านกระบวนการ เกี่ยวกับ การจ่ายเงินค่าสินค้าล่าช้า ขยายออกสู่ตลาดอย่างกว้างขวาง ทำให้ตลาดอิ่มตัว เกิดระบบแข่งขัน รวมทั้งขาดการประชุม ประสานงาน การผลิตอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนระบบเงินหมุนเวียนระหว่างผู้ผลิตกับลูกค้าไม่คงที่
(4)ข้อเสนอแนะ 1)กระบวนการบริหารจัดการกลุ่ม ระหว่างกลุ่ม ให้เชื่อมโยงกันมีการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของหมู่บ้าน และจัดสวัสดิการให้กับสมาชิกกลุ่ม 2)การรักษามาตรฐานชองผลิตภัณฑ์ชุมชนสืบทอดภูมิปัญญาหมู่บ้านและกลุ่มธุรกิจชุมชนทุกกลุ่ม จะต้องประสานกระบวนการธุรกิจชุมชนทุกขั้นตอนต่อคณะกรรมการเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนหมู่บ้าน รวมทั้งการยึดกฎระเบียบของกลุ่ม หมู่บ้าน 3)การบริหารจัดการของกลุ่มจัดให้เป็นระบบ โดยสร้างกระบวนการเรียนรู้ ความเข้าใจจากทุกภาคส่วน ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 4) มีรูปแบบการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม ตั้งแต่การผลิต การตั้งราคา การจำหน่ายและการบริการอย่างชัดเจนโดยเพิ่มบทบาทหน้าที่ให้คณะกรรมการเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนหมู่บ้าน เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนธุรกิจชุมชนให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ

Title Alternate The management of community businesses : a case study of Ban Nonsawang Phon-ngam subdistrict, Detudom Ubon Ratchathani