Title | การพัฒนางานหัตถกรรมร่วมสมัยจากพืชวงศ์หญ้า |
Publication Type | วิทยานิพนธ์/Thesis |
Year of Publication | 2551 |
Authors | วุฒิพงษ์ โรจน์เขษมศรี |
Degree | ศิลปประยุกต์ดุษฏีบัณฑิต--สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ |
Institution | คณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี |
City | อุบลราชธานี |
Call Number | TT ว867ก |
Keywords | การออกแบบงานหัตถกรรม, งานหัตถกรรม, งานหัตถกรรมร่วมสมัย, พืชวงศ์หญ้า, วัสดุในงานหัตถกรรม, เครื่องจักสาน--ไทย |
Abstract | งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานวิจัย 3 ประการ ดังนี้ 1) ศึกษาคุณสมบัติด้านต่าง ๆ ของพืชวงศ์หญ้า เพื่อคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ 2) ศึกษาเทคนิคและกระบวนการต่าง ๆ ในการผลิตงานหัตถกรรมจากเส้นใยพืช 3) ศึกษาแนวทางในการออกแบบและนำวัสดุที่ได้จากพืชวงศ์หญ้ามาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสม
จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลพบว่าในพื้นที่ภาคอีสานซึ่งเป็นพื้นที่การศึกษา มีพืชวงศ์หญ้าทั้งหมด 80 ชนิด ผู้วิจัยได้กำหนดเกณฑ์เพื่อคัดเลือกหญ้าชนิดที่มีคุณสมบัติเหมาะสมทั้งในด้าน ลักษณะทางภายภาพ ปริมาณเส้นใยและแหล่งวัตถุดิบ เพื่อนำไปทดลองกระบวนการแปรรูปวัสดุ พอสรุปได้ว่า มีหญ้าที่ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด 36 ชนิด โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มการทดลองตามลักษณะทางภายภาพของหญ้าชนิดต่าง ๆ ที่นำมาใช้ คือ กลุ่มหญ้าที่ใช้ประโยชน์จากลำต้น กลุ่มหญ้าที่ใช้ประโยชน์จากก้านช่อดอกและกลุ่มหญ้าที่ใช้ประโยชน์จากใบ จากนั้นจึงนำมาทดลองแปรรูปด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การจัก การเลียด การอัดรีด และการฟั่น หลังจากนั้นวิเคราะห์หาความเหมาะสมโดยใช้เกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช) และการศึกษาเปรียบเทียบกับงานหัตถกรรมในท้องตลาด พบว่าหญ้าที่เหมาะสมกับการนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จำนวน 18 ชนิด จำแนกตามลักษณะวัสดุเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเส้นตอก กลุ่มเส้นเชือกและกลุ่มลำปล้อง โดยนำมาทดสอบหาความเหมาะสมจาก 2 วิธีการ คือ 1) การทดสอบเพื่อหาค่ารับแรงดึงสูงสุดของวัสดุด้วยเครื่อง Universal Testing Machine Amsler ด้วยอัตรา 5 ปอนด์แรงต่อวินาที ที่อุณหภูมิ 30?0.5 องศาเซลเซียส 2) การส่งตัวอย่างวัสดุให้ผู้เชี่ยวชาญด้านงานหัตถกรรมจากเส้นใยพืชเป็นผู้ประเมินความเหมาะสมทั้งในด้านคุณสมบัติและกระบวนการขึ้นรูป สรุปได้ว่าหญ้าทั้ง 18 ชนิด คือ 1) หญ้าโขมง 2) หญ้าเพ็ก 3) หญ้าหนวดฤาษี 4) หญ้าแฝกดอน 5) ตะไคร้ 6) ตะไคร้หอม 7) หญ้าอุบลพาสพาลั่ม 8) หญ้าคา 9) หญ้ากินนี่สีม่วง 10) หญ้าพง 11) ข้าวโพด 12) หญ้าแขม 13) หญ้าหางหมาจิ้งจอก 14) หญ้าแพรกป่า 15) ฟางข้าว 16) หญ้านก, หญ้ากอ 17) หญ้าไข่เหาหลวง 18) หญ้าปล้องข้าวนก สามารถนำมาใช้ในงานหัตถกรรมได้ทั้งหมด ซึ่งหญ้าแต่ละชนิดมีส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์แตกต่างกันและให้วัสดุที่มีลักษณะต่างกัน สรุปเป็นแนวทางในการนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ดังนี้ 1) วัสดุในกลุ่มเส้นเชือกจะมีความอ่อนตัวและรับแรงดึงได้ดีสามารถนำไป ถัก ทอ หรือสานได้ดี 2) วัสดุในกลุ่มเส้นตอกแบน จะมีผิวสัมผัสเรียบเป็นมันมีขนาดสม่ำเสมอ สามารถดัดโค้งได้ดี สามารถใช้ในกระบวนการทอหรือสานได้ โดยวัสดุทั้ง 2 กลุ่ม เมื่อนำไปทดลองขึ้นรูปทรงผลิตภัณฑ์มีความเหมาะสมกับการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทสิ่งของเครื่องใช้ เช่น ตะกร้า กระเป๋า กล่องอเนกประสงค์ เป็นต้น 3) วัสดุในกลุ่มลำปล้องจะมีคุณสมบัติแข็งแรงคงทนแต่รับแรงการดัดโค้งได้น้อยจึงเหมาะกับการนำไปทอผสมเส้นใยเพื่อเสริมความแข็งแรง เหมาะสมกับการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทประดับตกแต่งภายในอาคาร เช่น โคมไฟ ผลิตภัณฑ์ประเภทปูลาด กรอบรูป เป็นต้น นอกจากนี้วัสดุที่ได้จากหญ้าบางชนิดยังมีคุณสมบัติเฉพาะที่ควรนำมาเป็นข้อพิจารณาประกอบการออกแบบและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย เช่น ด้านความสวยงามที่เกิดจากสีตามธรรมชาติของด้านความงามจากพื้นผิวภายนอกของหญ้า และด้านกลิ่น
ในการนี้ ผู้วิจัยจึงได้เป็นสรุปแนวคิดในการออกแบบพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยจากพืชวงศ์หญ้า 3 ประการ คือ 1) นำลักษณะเด่นที่แตกต่างกันของหญ้ามาประยุกต์ใช้ร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 2) พืชวงศ์หญ้ามีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทสิ่งของเครื่องใช้ และประเภทประดับตกแต่งภายในอาคาร 3) รูปแบบผลิตภัณฑ์จากหญ้าควรมีความสอดคล้องกับการใช้งานของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน
เพื่อสนับสนุนงานแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชวงศ์หญ้าตามผลการศึกษาข้างต้น ผู้วิจัยจึงได้ทดลองพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาต่อไปดังรูปแบบจำนวน 6 ชิ้น
|
Title Alternate | The development of contemporary gramineae handcrafts |