การบริหารรายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน : กรณีศึกษาหมู่บ้านนาทอง เมืองวังเวียง แขวงเวียงจันทร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

Titleการบริหารรายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน : กรณีศึกษาหมู่บ้านนาทอง เมืองวังเวียง แขวงเวียงจันทร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2552
Authorsสมพงษ์ วงศ์ชัย
Degreeศิลปศาสตรมหาบัณฑิต--สาขาวิชาพัฒนบูรณาการศาสตร์
Institutionคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberG ส263ก
Keywordsการท่องเที่ยว--การจัดการ--ลาว, การท่องเที่ยวโดยชุมชน, การบริหารรายได้จากการท่องเที่ยว, การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน, การพัฒนาที่ยั่งยืน--ลาว, อุตสาหกรรมท่องเที่ยว--รายได้--ลาว
Abstract

การศึกษาการบริหารรายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน กรณีศึกษา หมู่บ้านนาทอง เมืองวังเวียง แขวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อศึกษาการบริหารรายได้จากการท่องเที่ยวในชุมชน ที่จะนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ที่มุ่งสะท้อนลักษณะการดำเนินงานที่เป็นอยู่ของชุมชนบ้านนาทอง
ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้ศึกษาใช้วิธีการสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง และการสัมภาษณ์กลุ่มจากกลุ่มผู้นำชุมชน กลุ่มตัวแทนชาวบ้าน ใช้การวิเคราะห์เนื้อหา และนำเสนอในเชิงพรรณนา
ผลการศึกษาพบว่า กิจกรรมการท่องเที่ยวของบ้านนาทองเน้นการท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติ โดยมีเยี่ยมชมถ้ำปูคำ (ปูทอง) และกิจกรรมกระโดดน้ำ ในลำธารธรรมชาติที่ไหลผ่านบริเวณหน้าถ้ำเป็นหลัก ซึ่งการท่องเที่ยวถ้ำได้สร้างรายได้ให้กับหมู่บ้าน อีกทั้งบริเวณถ้ำยังเป็นสถานที่จัดงานบุญประเพณีปีใหม่ลาว (สงกรานต์) ส่งผลให้นักท่องเที่ยว ทั้งคนลาวและต่างประเทศเดินทางเข้ามาเที่ยวจำนวนมาก สร้างรายได้หลักให้กับหมู่บ้านถึง 40,000-100,000 บาทต่อเดือน
โครงสร้างการบริหารรายได้ของบ้านนาทอง มีระบบโครงสร้างที่เป็นไปตามการปกครองของระบบสังคมนิยม โดยกลุ่มผู้นำหมู่บ้านเป็นผู้มีบทบาทในการตัดสินใจ ส่วนชาวบ้านเป็นผู้ปฏิบัติ ผู้นำหมู่บ้านได้จัดสรรรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับชุมชนใน 2 ระดับ ระดับครัวเรือน และระดับชุมชน โดยมีการจัดสรรรายได้ให้กับครัวเรือนร้อยละ 30 และระดับชุมชนร้อยละ 70 ดังนี้
(1)ในระดับครัวเรือนทั้งหมด 132 ครอบครัว ได้รับเงินจัดสรรในจำนวนเท่ากัน
(2)ในระดับชุมชน พบว่า มีการจัดสรรเพื่อการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของหมู่บ้าน เช่น สร้างถนน วางระบบสายไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน สร้างสะพานข้ามลำธารในหมู่บ้าน เพื่อความสะดวกในการข้าถึง รวมทั้งพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เพื่อตอบสนองความต้องการของการท่องเที่ยวตลอกจนสร้างวัด สำนักงานปกครองหมู่บ้าน รวมทั้งการซ่อมแซมโรงเรียน ใช้สำหรับการประชุมและต้อนรับแขกผู้มาเยือน มีการจัดสรรเงินเพื่อการเดินทางไปประชุมของผู้นำหมู่บ้าน และเพื่อเป็นเงินสวัสดิการสังคมของหมู่บ้าน รวมทั้งมีการจ่ายค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ให้หน่วยงานของรัฐ ซึ่งการจัดสรรงบประมาณให้แก่หมู่บ้านที่ผ่านมา เป็นการนำเข้ากองทุนพัฒนาหมู่บ้านมากกว่าการแบ่งให้กับประชาชน หรือ บางเดือนไม่มีการแบ่ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างกลุ่มผู้นำชุมชนเป็นหลัก แล้วจึงแจ้งให้ชาวบ้านได้รับทราบในที่ประชุมของหมู่บ้าน ซึ่งพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับกลุ่มผู้นำชุมชน
การบริหารรายได้จากการท่องเที่ยวโดยชุมชนหมู่บ้านนาทอง เป็นการดำเนินการโดยกลุ่มผู้นำชุมชนเป็นหลัก มีบทบาทในการจัดสินใจ การวางแผน เพื่อการพัฒนาหมู่บ้าน และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงการแบ่งรายได้ให้กับประชาชน ส่วนประชาชนมีส่วนร่วมในระดับปฏิบัติงาน และคอนรับผลประโยชน์ แต่ทั้งนี้ชาวบ้านพอใจเพราะเห็นว่า ในการบริหารเป็นการให้โอกาสที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมท่องเที่ยวที่เท่าเทียมกัน และสภาพความเป็นอยู่ในหมู่บ้านดีขึ้น สำหรับข้อเสนอแนะของการศึกษาครั้งนี้ แม้ชาวบ้านจะไม่มีส่วนร่วมในการบริหาร แต่ควรให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบรายได้ที่มาจากการท่องเที่ยว และการใช้จ่ายในทุกด้านที่เกิดขึ้นจากการนำเงินของการท่องเที่ยว เพื่อให้การพัฒนาทรัพยากรการท่องเที่ยว เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวมร่วมกัน

Title Alternate Tourism income management for sustainable tourism development : a case study of Nathong Village Vangvieng District, Vientiane Province, Lao People's Democratic Republic