พฤษศาสตร์พื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์บรูและกุลาในจังหวัดอุบลราชธานี

Titleพฤษศาสตร์พื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์บรูและกุลาในจังหวัดอุบลราชธานี
Publication Typeงานวิจัย/Research report
Year of Publication2552
Authorsแก้ว อุดมศิริชาคร, ถาวร สุภาพรม
Institutionคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberQK364 ก891
Keywordsกุลา--ความเป็นอยู่และประเพณี, ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพืช, บรู--ความเป็นอยู่และประเพณี, พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน--อุบลราชธานี
Abstract

งานวิจัยนี้ดำเนินการระหว่างเดือนมกราคม ถึงธันวาคม 2551 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ ภูมิปัญญาพื้นบ้านในการใช้ประโยชน์จากพืชและคะลำ (ข้อห้าม) ด้านสุขภาพอนามัยที่เกี่ยวกับพืช โดยทำการศึกษาในกลุ่มชาติพันธุ์ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มชาติพันธุ์บรู หมู่บ้านท่าล้งและบ้านเวินบึก อำเภอโขงเจียม และกลุ่มชาติพันธุ์กุลา หมู่บ้านโนนใหญ่ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี การศึกษาใช้วิธีสัมภาษณ์การใช้ประโยชน์จากพืชพรรณธรรมชาติ และรวบรวมรายชื่อที่เป็นคะลำจากบทรายงานการวิจัย เก็บตัวอย่างพรรณไม้ตรวจสอบหาชื่อสามัญ ชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อวงศ์โดยใช้รูปวิธานและสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานพืช จากการศึกษาพบว่ากลุ่มชาติพันธุ์บรูมีการใช้ประโยชน์จากพืชจำนวน 222 ชนิด 72 วงศ์ วงศ์ที่มีการใช้ประโยชน์มากที่สุดคือ วงศ์ Leguminosae-Caesalpinioideae และมีการใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรมากที่สุดจำนวน 86 ชนิด 48 วงศ์ ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์กุลามีการใช้ประโยชน์จากพืชจำนวน 210 ชนิด 76 วงศ์ วงศ์ที่มีการใช้ประโยชน์มากที่สุดคือ วงศ์ Dipterocarpaceae และมีการใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรมากที่สุดจำนวน 84 ชนิด 47 วงศ์ สำหรับผลการศึกษาพืชที่เป็นคะลำด้านสุขภาพอนามัยของกลุ่มชาติพันธุ์บรูและกุลาพบว่ามีความคล้ายคลึงกัน ส่วนใหญ่เป็นพืชคะลำในกลุ่มของผู้หญิงที่มีภาระเกี่ยวกับการมีบุตรโดยเฉพาะหญิงกำลังอยู่ไฟพบมากที่สุด
พืชที่น่าสนใจของชาวบรู ได้แก่ เหลืองพิศมร (Spathoglottis affinis de Vriese) ใช้ลำต้นใต้ดินตำพอกใบหน้าช่วยขจัดสิวฝ้า ทำให้ใบหน้าขาว พลองแก้วอ้น (Rhadamnia dumentorum (DC.) Merr. & L.M. Perry) ใช้รากต้มน้ำดื่มช่วยลดน้ำหนัก มะยม (Phyllanthus acidus (L.) Skeels) ใช้รากมะยมเพศผู้ผสมขี้ไก่แห้งต้มน้ำดื่มช่วยงดเหล้า น่อง (Antiaris toxicaria Lesch.) น้ำยางมีพิษรุนแรง ใช้ล่าสัตว์ และไผ่เฮียะ (Schizostachyum blumei Nees) ใช้ลำต้นทำหัตถกรรมและเครื่องดนตรีอีสานพื้นบ้านหลายประเภท
พืชที่น่าสนใจของชาวกุลา ได้แก่ พริกไทย (Piper nigrum L.) ใช้เมล็ดตำผสมไข่ขาวพอกใบหน้าจะทำให้ใบหน้าขาว ขยัน (Bauhinia strychnifolia Craib) ใช้ลำต้นเป็นยาแก้อาหารผิดสำแดงและเข้าชุมยาสมุนไพรแทบทุกตำรับ รางจืด (Thunbergia laurifolia Lindl.) ใช้ใบเคี้ยวหรืออมไว้ที่ปากขณะดื่มเหล้าจะทำให้ไม่เมาง่าย มะขามป้อม (Phyllanthus emblica L.) ใช้กิ่งและใบโยนใส่โลงศพเพื่อทำลายไสยศาสตร์ของผู้ตาย ทำให้ศพไหม้ไฟ มะกอกเกลื้อน (Canarium subulatum Guillaumin) ใช้แก่นทำเครื่องดนตรีประเภทกลองยาวให้เสียงที่มีคุณภาพดีและมีน้ำหนักเบา

Title Alternate Ethnobotany of Bru and Kula ethnic groups in Ubon Ratchathani provinc