ดัชนีชี้วัดความสำเร็จของกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) : กรณีศึกษากลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนในเขตจังหวัดอุบลราชธานี

Titleดัชนีชี้วัดความสำเร็จของกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) : กรณีศึกษากลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนในเขตจังหวัดอุบลราชธานี
Publication Typeงานวิจัย/Research report
Year of Publication2551
Authorsชนัญฎา สินชื่น, ชวพจน์ ศุภสาร
Institutionคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberHF5386 ช145
KeywordsOTOP, การจัดการธุรกิจ, การวางแผนเชิงกลยุทธ์--อุบลราชธานี, ความสำเร็จทางธุรกิจ, ผลิตภัณฑ์ชุมชน
Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อศึกษาดัชนีชี้วัดความสำเร็จของกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนในเขตจังหวัดอุบลราชธานีจำนวน 50 กลุ่ม ได้มาจากการสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ t-test, F-test การวิเคราะห์สหสัมพันธ์และการวิเคราะห์การถดถอยเชิงพหุคูณ
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนส่วนใหญ่มีระยะเวลาในการประกอบการ 4-6 ปี จำนวนสมาชิกในกลุ่ม 31-40 คน จำนวนเงินทุนหมุนเวียน 100,001 บาทขึ้นไป ประเภทผลิตภัณฑ์เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทของใช้/ ของตกแต่ง/ ของที่ระลึก รายได้เฉลี่ยต่อปีของกลุ่มฯ 100,001 บาทขึ้นไป จำนวนผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 10 ผลิตภัณฑ์ขึ้นไป มาตรฐานการรับรองที่ได้รับ มผช. การจัดระดับผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ได้ระดับ 4 ดาว และความต่อเนื่องในการผลิตจะผลิตตลอดทั้งปี
กลุ่มผลิตภัณฑ์ให้ความคิดเห็นด้วยเกี่ยวกับการมีดัชนีชี้วัดความสำเร็จโดยรวมและเป็นรายด้านทุกด้าน อยู่ในระดับมาก ได้แก่ ด้านการเงิน ประกอบด้วย การให้ความสำคัญกับการเพิ่มขึ้นของยอดขายอย่างสม่ำเสมอ และคำนึงถึงค่าตอบแทนของสมาชิกเป็นสำคัญ ด้านลูกค้าประกอบด้วย การมุ่งเน้นการให้บริการหลังการขายเป็นประจำ และให้ความสำคัญกับความพึงพอใจของลูกค้า เพื่อดำรงรักษาลูกค้าเดิมไว้ ด้านกระบวนการภายใน ประกอบด้วย การให้ความสำคัญกับความสามารถของประธานกลุ่มที่มีภาวะผู้นำสูง โดยจะมีการสลับ/ปรับเปลี่ยนหน้าที่การทำงาน เพื่อสามารถทำงานทดแทนกันได้ และด้านนวัตกรรมใหม่ ประกอบด้วย การที่จะพยายามเพิ่มพูนทักษะในการผลิต และการจัดการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิต และในการจัดการของกลุ่มให้ดีขึ้นอยู่เสมอ
กลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่มีระยะเวลาในการประกอบการ จำนวนสมาชิกในกลุ่ม จำนวนเงินทุนหมุนเวียน ประเภทผลิตภัณฑ์ รายได้เฉลี่ยต่อปีของกลุ่มฯ จำนวนผลิตภัณฑ์ทั้งหมด มาตรฐานการรับรองที่ได้รับ การจัดระดับผลิตภัณฑ์ และความต่อเนื่องในการผลิตที่แตกต่างกัน ให้ความคิดเห็นด้วยเกี่ยวกับการมีดัชนีชี้วัดความสำเร็จโดยรวม และรายด้านทุกด้านแตกต่างกัน และกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่มีระยะเวลาในการประกอบการ จำนวนสมาชิกในกลุ่ม จำนวนเงินทุนหมุนเวียน ประเภทผลิตภัณฑ์ รายได้เฉลี่ยต่อปีของกลุ่มฯ จำนวนผลิตภัณฑ์ทั้งหมด มาตรฐานการรับรองที่ได้รับ การจัดระดับผลิตภัณฑ์ และความต่อเนื่องในการผลิตที่แตกต่างกัน ให้ความคิดเห็นด้วยเกี่ยวกับการมีความสำเร็จโดยรวม และรายด้านทุกด้านแตกต่างกัน
จากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์และผลกระทบของดัชนีชี้วัดความสำเร็จกับความสำเร็จของกลุ่มผลิตภัณฑ์พบว่า ดัชนีชี้วัดความสำเร็จด้านการเงิน มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความสำเร็จของกลุ่มผลิตภัณฑ์โดยรวม ด้านการผลิต และด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ดัชนีชี้วัดความสำเร็จด้านลูกค้า มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความสำเร็จของกลุ่มผลิตภัณฑ์โดยรวม ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และด้านความเข้มแข็งของชุมชน ดัชนีชี้วัดความสำเร็จด้านกระบวนการภายใน มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความสำเร็จของกลุ่มผลิตภัณฑ์โดยรวม ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้านความเข้มแข็งของชุมชน ด้านการตลาด และด้านการตรวจสอบ/วิเคราะห์คุณภาพ/ ตามประเภทผลิตภัณฑ์ และด้านนวัตกรรมใหม่มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความสำเร็จของกลุ่มผลิตภัณฑ์โดยรวม ด้านการผลิต ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ด้านความเข้มแข็งของชุมชน ด้านเรื่องราวของตำนานผลิตภัณฑ์ และด้านการตรวจสอบ/วิเคราะห์คุณภาพ/ตามประเภทผลิตภัณฑ์
โดยสรุป ดัชนีชี้วัดความสำเร็จของกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน มีความสัมพันธ์และผลกระทบกับความสำเร็จของกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน ดังนั้น ในการเพิ่มประสิทธิผลและประสิทธิภาพของความสำเร็จของกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน กลุ่มผลิตภัณฑ์จึงต้องเพิ่มขีดความสามารถทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านการเงิน ด้านลูกค้า ด้านกระบวรการภายใน และด้านนวัตกรรมใหม่ เพื่อเป็นส่วนช่วยในการพัฒนาศักยภาพการปฏิบัติงานของกลุ่มผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับและมีความยั่งยืนต่อไป

Title Alternate OTOP group achievement indicators : a case Ubonratchathani province