การพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยกรรมวิธีประยุกต์จากการทำเครื่องเขิน

Titleการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยกรรมวิธีประยุกต์จากการทำเครื่องเขิน
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2552
Authorsตระกูลพันธ์ พัชรเมธา
Degreeปรัชญาดุษฎีบัณฑิต -- สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์
Institutionคณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberNK ต146ก
Keywordsการออกแบบผลิตภัณฑ์, ศิลปะการตกแต่ง, เครื่องเขิน
Abstract

งานหัตถกรรมเครื่องเขินเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและแสดงถึงอัตลักษณ์เฉพาะของชาวล้านนามาแต่อดีตกาล งานวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษา สำรวจ และรวบรวมข้อมูลงานหัตถกรรมเครื่องเขินล้านนาที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่ให้สูญหายไป 2) เพื่อศึกษาค้นคว้าทดลองพัฒนาวัสดุและกระบวนการผลิตเครื่องเขินให้มีความเหมาะสมกับการผลิตเพื่อจำหน่ายในตลาดปัจจุบัน 3) เพื่อพัฒนางานออกแบบหัตถกรรมให้มีรูปแบบ ประโยชน์ใช้สอย ลวดลาย วัสดุและกรรมวิธีการผลิตให้เหมาะกับความต้องการของผู้ใช้เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องเขินร่วมสมัย ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ 1) กลุ่มสำหรับศึกษาข้อมูล ได้แก่ ผู้ผลิต และผู้จำหน่วยเครื่องเขินล้านนาภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ และน่าน และผู้ผลิตเครื่องเขินในเมืองเชียงตุง รัฐฉานตะวันออกของสหภาพพม่า 2) กลุ่มสำหรับวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านการตลาดและการประเมินผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ได้แก่ ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้เชี่ยวชาญด้านงานหัตถกรรมเครื่องเขิน กลุ่มตัวอย่างผู้วิจัยใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง
ผลการวิจัยสรุปได้ 3 ส่วน ดังนี้
1)การศึกษาสำรวจงานหัตถกรรมเครื่องเขิน พบว่า 1) ประวัติความเป็นมาของงานเครื่องเขินมีจุดกำเนิดมาจากจีน และมีการขยายตัวของเครื่องเขินลงมาทางตอนใต้ และตะวันออกของจีน สู่ประเทศต่าง ๆ ในแถบเอเชีย โดยมีการถ่ายทอดกรรมวิธีเทคนิคการทำเครื่องเขินลักษณะต่าง ๆ ในแต่ละช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ ส่วนงานเครื่องเขินล้านนานั้นผู้ผลิตงานเครื่องเขินเป็นชุมชนที่สืบเชื้อสายมาจากชาวไทยเขินที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองเชียงตุงในสมัยพระเจ้ากาวิละ 2)จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการผลิตงานเครื่องเขินอยู่บริเวณชุมชนวัดนันทาราม ตำบลหายยา อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และบริเวณถนนเชียงใหม่-สันกำแพง ส่วนเครื่องเขินเชียงตุงมีการผลิตและจำหน่ายเครื่องเขินอยู่ที่บ้านจอมมน ในตัวเมืองเชียงตุงผู้ผลิตเป็นชาวไทยใหญ่ (Shan) 3) วัสดุและกรรมวิธีการผลิตงานเครื่องเขินประกอบด้วย (1) ยางรักชาวล้านนาได้มาจากต้นรักใหญ่ (2) วัสดุทำโครงเครื่องเขิน ได้แก่ ไม้ไผ่เฮี๊ยะ ไม้มะม่วง และไม้ฉำฉา (3) การเคลือบยางรักมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับโครงเครื่องเขินและปกปิดพื้นผิวให้เรียบและเป็นมันเงางาม (4) การเขียนลายเครื่องเขินมีเทคนิคการเขียนลายอยู่ 4 แบบ ได้แก่ ลายรดน้ำ ลายขุด ลายเขียนสี และลายเปลือกไข่ ส่วนเครื่องเขินเชียงตุงใช้วัสดุทำโครงเครื่องเขินจากไม้ไผ่เฮี๊ยะ รวมถึงขั้นตอนการเคลือบชิ้นงานด้วยยางรักเหมือนกันกับเครื่องเขินล้านนา และการตกแต่งลวดลาบเครื่องเขินใช้เทคนิคการทำลายนูน (Thayo)
2)การวิเคราะห์และทดลองวัสดุ พบว่า การทดลองพัฒนาคุณภาพวัสดุที่ใช้ผลิตงานหัตถกรรมเครื่องเขิน เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสภาพปัญหาและความคล้องการในปัจจุบัน โดยผลการทดลองมีส่วนสำคัญที่พบจำแนกเป็น 3 ประเด็น คือ 1)โครงสร้างชิ้นงานเครื่องเขินสามารถผลิตได้จากวัสดุสังเคราะห์ และวัสดุธรรมชาติ ซึ่งเป็นวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น ราคาถูก และเป็นวัสดุเหลือใช้ เช่น กระดาษ โฟม เป็นต้น 2) สูตรการเคลือบผิวโครงชิ้นงานเครื่องเขิน โดยใช้สารเคลือบผิวสังเคราะห์สามารถนำมาประยุกต์ใช้ทดแทนยางรักได้ 3) สูตรการตกแต่งลวดลายบนชิ้นงานเครื่องเขินจากวัสดุสติกเกอร์ เมล็ดพันธุ์พืช และขี้เลื่อยไม้ยางพาราสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มมูลค่าได้
3)การออกแบบและพัฒนางานหัตถกรรมเครื่องเขินร่วมสมัย พบว่า 1)ด้านกรรมวิธีการขึ้นรูปชิ้นงานเครื่องเขินนั้นจำเป็นที่จะต้องมีความสอดคล้อง และเหมาะสมกับลักษณะรูปทรงของวัสดุที่ใช้ผลิตโครงเครื่องเขิน เพื่อลดระยะเวลาในการผลิต และง่ายต่อการผลิต 2)ด้านข้อมูลการตลาดเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบ พบว่า ผู้ซื้องานเครื่องเขินเป็นเพศหญิง และเพศชาย จำนวนพอ ๆ กัน มีอายุระหว่าง 41-50 ปี ส่วนใหญ่เลือกซื้องานเครื่องเขิน ประเภทของตกแต่งบ้าน รองลงมา คือ ประเภทของที่ระลึก ประเภทของใช้ และประเภทเครื่องประดับตามลำดับ รูปแบบลวดลายเป็นเครื่องเขินประยุกต์ร่วมสมัย เป็นเทคนิคลายทองรดน้ำ และราคาจำหน่ายงานเครื่องเขินเริ่มต้นที่ 100 บาทขึ้นไป 3)ด้านแนวความคิดในการออกแบบ พบว่า (1) กลุ่มผู้ซื้อมีความต้องการในงานเครื่องเขินที่มีรสนิยมที่แตกต่างกันตัวแปรได้แก่ เพศ อายุ (2)ประเภทของงานเครื่องเขินที่ตลาดต้องการ (3) รูปทรงและลวดลายของงานเครื่องเขินที่หลากหลายเป็นสิ่งสำคัญที่จะดึงดูดผู้ซื้อ (4) ราคาจำหน่ายงานเครื่องเขินที่เหมาะสมกับกำลังซื้อของลูกค้าแต่ละกลุ่ม

Title Alternate A product development through the application of lacquer ware production process