ความเป็นไปได้ของการผลิตข้าวหอมมะลิในระบบเกษตรอินทรีย์ที่จะเป็นอาชีพทางเลือกที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาความยากจนสำหรับเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง : กรณีศึกษาจังหวัดยโสธร

Titleความเป็นไปได้ของการผลิตข้าวหอมมะลิในระบบเกษตรอินทรีย์ที่จะเป็นอาชีพทางเลือกที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาความยากจนสำหรับเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง : กรณีศึกษาจังหวัดยโสธร
Publication Typeงานวิจัย/Research report
Year of Publication2549
Authorsนันทิยา หุตานุวัตร, เฉลียว บุญมั่น, อุทัย อันพิมพ์, หนูพิศ ถุงเกษแก้ว
Institutionคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberSB191.R5 น431ย
Keywordsข้าวหอม--การปลูก--ยโสธร, ข้าวอินทรีย์--การปลูก--ยโสธร, เกษตรธรรมชาติ, เกษตรอินทรีย์--ยโสธร
Abstract

การศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ของการผลิตข้าวหอมมะลิในระบบเกษตรอินทรีย์ที่จะเป็นอาชีพทางเลือกที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาความยากจน สำหรับเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ที่ปรากฏในเอกสารฉบับนี้เป็นกรณีศึกษา ในพื้นที่จังหวัดยโสธร การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาโดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 4 กลุ่ม ๆ ละ 20 ครัวเรือน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกข้าวทั่วไป กลุ่มเกษตรกรที่ปลูกข้าวอินทรีย์ในระยะปรับเปลี่ยน กลุ่มเกษตรกรปลูกข้าวอินทรีย์ และกลุ่มเกษตรปลูกข้าวอินทรีย์ผสมผสาน (ยั่งยืน) กลุ่มตัวอย่างส่วนมากอยู่ในพื้นที่อำเภอมหาชนะชัย อำเภอคำเขื่อนแก้ว และอำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ผลการศึกษาพบว่า
กระบวนการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์แบบครบวงจร โดยวิธีการผลิตแล้วไม่มีความแตกต่่างจากการผลิตข้าวหอมมะลิทั่วไป ตั้งแต่การเตรียมเมล็ดพันธ์ การเตรียมดิน การเพาะปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว การจัดการผลผลิต แต่การผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์มีเงื่อนไขที่แตกต่่างจากการต่างจากข้าวหอมมะลิทั่วไป ด้วยเงื่อนไขใช้เมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการผลิตที่ปราศจากสารเคมีสังเคราะห์ในขบวนการผลิตทุกขั้นตอน ไม่มีการใช้สารเคมีใด ๆ และในแปลงนามีระบบการป้องกันการปนเปื้อนสารเคมีสังเคราะห์จากแหล่งอื่นเข้ามาในแปลงนา การป้องกันการปนเปื้อนกับผลผลิตข้าวที่ไม่ใช่ข้าวอินทรีย์ รวมถึงภาชนะบรรจุผลผลิต โดยกระบวนการผลิตทั้งหมดจะต้องได้รับการตรวจสอบรับรองจากหน่วยงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ จึงเป็นการรับรองกระบวนการผลิตที่ไม่ใช่การรับรองผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ ในการตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์นั้นเกษตรกรจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น สำหรับการตรวจสอบรับรองอาจจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม
การเข้าสู่กระบวนการผลิตข้าวหอมมะลิในระบบอินทรีย์เป็นไปในลักษณะของการรวมกันของเกษตรกร ซึ่งทำให้สะดวกต่อการควบคุมมาตรฐานการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจปรับเปลี่ยนเข้าสู่การผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ได้แก่ ราคาของผลผลิตที่จำหน่ายได้สูงกว่าข้าวทั่วไป ความต้องการที่จะลดต้นทุนการผลิตที่เป็นเงินสด และคำนึงถึงรายได้รวมจากการจำหน่ายผลผลิต โดยมีปัจจัยสนับสนุนการตัดสินใจจากการตัดสินใจร่วมกันของสมาชิกในครัวเรือน การได้มีโอกาสในการเรียนรู้ อบรม ศึกษาดูงานและทดลองทำด้วยตนเอง รวมถึงลักษณะอุปนิสัยที่ไม่มีคามฟุ้งเฟ้อ มีความขยันและตั้งใจจริงที่จะเปลี่ยนแนวคิดในวิถีที่นิยมทางเลือกที่สะดวก กระบวนการปรับเปลี่ยนที่สำคัญ 2 ระยะ คือ 1) ระยะเริ่มต้นเข้าร่วมโครงการผลิตข้าวอินทรีย์ หรือเรียกว่า ระยะปรับเปลี่ยน (1-3 ปี ขึ้นกับมาตรฐานการรับรอง) ผลผลิตที่ได้ในระยะนี้ยังไม่สามารถรับรองว่าเป็นผลผลิตข้าวอินทรีย์ ในระยะเริ่มต้นเข้าสู่ขบวนการผลิตแบบอินทรีย์ในระยะปรับเปลี่ยนนี้ พบว่า เกษตรกรส่วนมากได้ผลผลิตข้าวลดลง คิดเป็นร้อยละ 18.16 เมื่อเทียบกับกลุ่มผลิตข้าวทั่วไปเนื่องจากสาเหตุหลักในด้านปัจจัยการผลิต (ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก) ไม่เพียงพอ แต่ถ้าเกษตรกรมีการเตรียมการที่ดี เตรียมปุ๋ยให้เพียงพอจะสามารถป้องกันปัญหาผลผลิตลดลงในระยะปรับเปลี่ยนได้ 2) ระยะที่ผ่านการรับรองเกษตรอินทรีย์ ผลผลิตที่ได้จำหน่ายเป็นผลผลติอินทรีย์ที่มีมาตรฐานรับรองในราคาประกัน ซึ่งมักจะสูงกว่าราคาข้าวทั่วไป เกษตรกรอาจขายได้มากกว่าหรือน้อยกว่าราคาประกันได้ขึ้นกับคุณภาพของผลผลิตตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ในระยะเกษตรอินทรีย์นี้ ผลผลิตที่ได้มีแนวโน้มสูงกว่าการผลิตข้าวทั่วไปเล็กน้อย คิดเป็นร้อยละ 4.74 ทั้งนี้ขึ้นกับระดับความเข้มข้นในการบริหารจัดการ และการดูแลเอาใจใส่ของเกษตรกรรวมถึงภาวะปัจจัยทางธรรมชาติ
ผลผลิตข้าวหอมมะลิที่ได้จากการศึกษา พบว่าแต่ละกลุ่มมีผลผลิตเฉลี่ย 383.64, 313.98, 402.31 และ 402.33 กิโลกรัมต่อไร่ และจำหน่ายผลผลิตในราคา 9.50, 9.75, 10 และ 10 บาทต่อกิโลกรัม ตามลำดับ เกษตรกรแต่ละกลุ่มมีอัตราการใช้พื้นที่สำหรับการปลูกข้าวหอมมะลิเฉลี่ย 3.46, 4.31, 4.30 และ 3.36 ไร่ต่อคน เมื่อคิดรายได้เฉลี่ย (ไม่หักค่าต้นทุน) จากข้าวหอมมะลิตามราคาของแต่ละประเภทของผลผลิต จะได้เท่ากับ 12,610.25 ,13,194.22 , 17,299.33 และ 13,484.69 บาทต่อคนต่อปี หรือคิดเป็นรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือน เท่ากับ 1,050.85 , 1,000.52 , 1,441.61 และ 1,123.72 บาท ตามลำดับ
ต้นทุนในการผลิตที่เป็นต้นทุนรวม เท่ากับ 2,824.62 , 2,643.11 , 2,880.08 และ 2,733.15 บาทต่อไร่ ตามลำดับ ประกอบด้วย ส่วนของต้นทุนที่เป็นเงินสด เท่ากับ 1,164.21 , 1,064.16 , 1,325.93 และ 1,306.21 บาทต่อไร่ และส่วนที่เป็นต้นทุนที่ไม่ใช่เงินสด เท่ากับ 1,660.41 , 1,577.94 , 1,554.16 และ 1,426.94 บาทต่อไร่ ตามลำดับ ซึ่งคิดเป็นรายได้เหนือต้นทุนรวม เท่ากับ 819.95, 422.16 , 1,143.05 และ 1,280.14 บาท/ไร่
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับรายได้เฉลี่ยจากการขายข้าวหอมมะลิของเกษตรกร เมื่อคิดเป็นรายครัวเรือนเปรียบเทียบกับเส้นความยากจน จะเห็นว่าจำนวนครัวเรือนที่มีรายได้ (หักต้นทุนที่เป็นเงินสด) จากการขายข้าวหอมมะลิของกลุ่มทำเกษตรทั่วไป กลุ่มเกษตรอินทรีย์ระยะปรับเปลี่ยน กลุ่มเกษตรอินทรีย์ และกลุ่มเกษตรอินทรีย์ผสมผสาน ที่ผ่านเกณฑ์เส้นความยากจน คิดเป็นร้อยละ 15, 15, 35 และ 25 ตามลำดับ โดยปัจจัยที่มีผลทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ มีรายได้ต่อคนต่อเดือนอยู่ในเกณฑ์ที่ผ่านหรือไม่ผ่านเส้นความยากจน เกี่ยวข้องกันหลายปัจจัย ได้แก่ ปริมาณผลผลิตต่อไร่ อัตราการใช้พื้นที่ต่อคนสำหรับการผลิตข้าวหอมมะลิ ราคาข้าวหอมมะลิที่ขายได้ตามประเภทผลผลิต และคุณภาพของข้าวหอมมะลิ
การผลิตข้าวหอมมะลิิอินทรีย์ แม้ว่าจะเป็นทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ทางด้านสังคมวัฒนธรรมของเกษตรกร เนื่องจากเกษตรกรไม่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิธีปฏิบัติมากนัก และสภาของพื้นที่ทั้งด้านกายภาพ ชีวภาพ ไม่เป็นอุปสรรคในด้านการผลิต แต่การผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์เพียงอย่างเดียว ในแง่ของการเป็นทางเลือกที่มีศักยภาพในการแก้ปัญหาความนากจนตามเกณฑ์รายได้ระดับไม่น้อยกว่า 1,040 บาทต่อเดือนต่อคนนั้น จากการศึกษาเห็นว่า ยังไม่สามารถเป็นทางแก้ปัญหาความยากจนได้ดีเท่าที่ควร เนื่องจากข้อจำกัดปริมาณผลผลิตต่อไร่ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ (แม้ว่าแนวโน้มผลผลิตในระบบการผลิตแบบอินทรีย์จะเพิ่มขึ้น) อัตราการใช้พื้นที่ต่อคนสำหรับการผลิตข้าวหอมมะลิไม่มากพอและไม่สามารถขยายพื้นที่ผลิตเพิ่มได้อีกเนื่องจากข้อจำกัดในการถือครองพื้นที่รวมถึงลักษณะทางสังคม วัฒนธรรมของเกษตรกรในจังหวัดยโสธร เกษตรกรแบ่งพื้นที่ผลิตข้าวหอมมะลิ สำหรับใช้เป็นแหล่งรายได้ และแบ่งพื้นที่ผลิตข้าวเหนียวสำหรับการบริโภคในครัวเรือน

Title Alternate The possibility of Hom Mali Rice production in organic farming systems as an alternative farming career with poverty alleviation potential for Lower-Northeastern farmers : the case of Yasothon Province