Abstract | การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประเมินความเป็นไปได้ของการผลิตข้าวขาวดอกมะลิ 105 (งานวิจัยนี้ใช้คำว่า ข้าวหอมมะลิ) ในระบบเกษตรอินทรีย์ ในการเป็นอาชีพทางเลือกที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาความยากจนในจังหวัดร้อยเอ็ด มีเกษตรกรกลุ่มที่ศึกษาในอำเภอเสลภูมิ จำนวน 77 ราย เป็นเกษตรกรผู้ผลิตข้าวหอมมะลิทั่วไป 20 ราย เกษตรกรผู้ผลิตข้าวหอมมะลิปลอดสารเคมีในระยะปรับเปลี่ยนจำนวน 20 ราย เกษตรกรผู้ผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์จำนวน 17 ราย และเกษตรกรผู้ผลิตข้าวหอมมะลิในระบบเกษตรอินทรีย์ผสมผสานที่มีข้าวหอมมะลิเป็นพืชหลัก จำนวน 20 ราย โดยศึกษาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลทุติยภูมิ การสำรวจตามแบบสอบถามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้บริโภค ผู้ประอบการโรงสี ฯลฯ การเก็บข้อมูลตัวอย่่างผลผลิตข้าว การสำรวจพื้นที่และเก็บตัวอย่างดิน การสำรวจตามแบบสอบถาม การสัมภาษณ์และการศึกษาเชิงคุณภาพโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เจาะลึก การจัดสนทนากลุ่ม (Focus group session) และการสังเกตเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้
1.ความเป็นไปได้ของการผลิตข้าวหอมมะลิในระบบเกษตรอินทรีย์ในการเป็นอาชีพทางเลือกที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาความยากจน
(1) ในด้านสภาพทางเศรษฐกิจของการผลิต ข้ามหอมมะลิอินทรีย์ของเกษตรกรในอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด มีศักยภาพในการเป็นอาชีพเลือกเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ได้ในระดับปานกลาง เหตุผล คือ ต้นทุนที่เป็นเงินสดของการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ผสมผสาน ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ จะมีค่า 855.33 บาท และ 46.60 บาท ต่ำกว่าข้าวหอมมะลิเคมี (958.69 บาท) ถึง 103.36 บาท และ 112.09 บาท ตามลำดับ ส่วนต้นทุนที่เป็นเงินสดของข้าวหอมมะลิปรับเปลี่ยน (1,133.06 บาท) ยังสูงกว่าข้าวหอมมะลิเคมีอยู่ 174.37 บาท ถึงแม้ว่าต้นทุนรวมเฉลี่ยต่อไร่ของข้าวหอมมะลิอินทรีย์ทั้ง 3 รูปแบบมีค่าสูงคือ 3,081.85 บาท (ปรับเปลี่ยน), 2,692.67 บาท (อินทรีย์) และ 2,862.50 บาท (อินทรีย์ผสมผสาน) โดยที่ต้นทุนของการผลิตข้าวหอมมะลิเคมี คือ 2,588.78 บาท/ไร่ ซึ่งเป็นต้นทุนที่ต่ำที่สุด แสดงถึงการใช้ปัจจัยผลิตของตนเองของนาข้าวอินทรีย์ที่สูงกว่านาเคมี ส่งผลให้การใช้เงินสดในการทำนาอินทรีย์มีแนวโน้มลดลงจากนาเคมี (2) ค่าเฉลี่ยรายได้ที่เป็นเงินสดต่อปีของเกษตรกรพบว่ารายได้รวมต่อปีเฉลี่ย/คน/ปีของกลุ่มนาเคมีต่ำที่สุด คือ 12,692 บาท โดยกลุ่มอื่นมีรายได้สูงขึ้นตามความเข้มข้นของความเป็นอินทรีย์ของฟาร์มจากนาปรับเปลี่ยน นาอินทรีย์และนาอินทรีย์ผสมผสานเท่ากับ 20,047.79 บาท, 20,047.79 บาท และ 21,643.24 บาท ตามลำดับ (3) จำนวนเงินออมเฉลี่ยต่อรายมีแนวโน้มคล้ายกันโดยเริ่มจากกลุ่มนาอินทรีย์จะมีค่าสูงสุด คือ 15,928.57 บาท รองลงมาคือ กลุ่มอินทรีย์ผสมผสานเท่ากับ 14,500 บาท และกลุ่มนาเคมีเท่ากับ 9,472.94 บาท ส่วนกลุ่มนาปรับเปลี่ยนจะต่ำสุดคือ 8,243.75 บาท แสดงถึงการมีภารกิจอื่น ๆ ที่กลุ่มนาอินทรีย์ปรับเปลี่ยนจะต้องรับผิดชอบในระยะนี้ (4) หนี้สิน เมื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังทำข้าวหอมมะลิิอินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกร พบว่า ปริมาณหนี้มีแนวโน้มลดลงตามความเข้มข้นของความเป็นอินทรีย์ของฟาร์ม โดยกลุ่มปรับเปลี่ยนมีหนี้สินลดลง 10.53% กลุ่มข้าวอินทรีย์ลดลง 18.75% และกลุ่มข้าวอินทรีย์ผสมผสานลดลง 55% ตามลำดับ และ (5) รายได้ที่เป็นเงินสดจากทุกแหล่งที่มาของรายได้ พบว่า รายได้รวมเฉลี่ย/คน/เดือน ของเกษตรกรทุกกลุ่มสูงกว่าเส้นความยากจน โดยมีแนวโน้มสูงขึ้นตามระดับความเข้มข้นของความเป็นอินทรีย์ของฟาร์ม คือ นาเคมี 1,057.67 บาท/คน/เดือน นาปรับเปลี่ยน 1,637.50 บาท/คน/เดือน นาอินทรีย์ 1,670.65 บาท/คน/เดือน และนาอินทรีย์ผสมผสาน 1,803.60 บาท/คน/เดือน ตามลำดับ
2.ความเป็นไปได้ทางกายภาพชีวภาพของการผลิต มีความเป็นไปได้ในระดับสูง ด้วยเหตุผลคือ การผลิตข้าวอินทรีย์ในเขตพื้นที่ศึกษามีความเหมาะสมในด้านต่าง ๆ ซึ่งเอื้อต่อการปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ การมีสิทธิ์ในการถือครองที่ดินสูงถึง 90% เกษตรกรมีการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวเอง เป็นปัจจัยหนึ่งในการลดต้นทุนการผลิต และเป็นการปรับปรุงพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นได้ดี ในทางสภาพสังคมวัฒนธรรมพบว่า มีความเป็นไปได้ในระดับปานกลาง เพราะเกษตรกรมีกระบวนทัศน์ที่สอดคล้องและส่งผลในทางบวกต่อการผลิตข้าวอินทรีย์แบบยั่งยืน และมีเวลาในการทำงานในแปลงอย่างพอเพียง คือ ด้านการแลกเปลี่ยนความรู้ พลังต่อรองราคาผลผลิต และการได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก แต่ควรมีการพัฒนาบทบาทและภารกิจของกลุ่มในด้านการตลาดและการรับรองมาตรฐานคุณภาพของผลผลิต
2. กระบวนการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในพื้นที่ศึกษา
ในด้านกิจกรรมการปฏิบัติในพื้นที่ทำการปลูกนั้น มีรูปแบบและวิธีการเหมือนกับการทำนาข้าวอินทรีย์ทั่วไป ส่วนในด้านการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตและการตัดสินใจนั้น เริ่มจาก ขั้นตอนการตัดสินใจ ที่เกิดจากปัญหาราคาผลผลิตแบบเดิมตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง เกิดภาวะหนี้สิน จึงปรับกระบวนการคิด และวิเคราะห์ค้นหาทางเลือกที่เหมาะสม จากนั้นเป็นการศึกษาเรียนรู้ ดูงานและรวมกลุ่ม โดยมีปัจจัยที่สนับสนุนการตัดสินใจของเกษตรกร คือ แรงบันดาลใจ ความผูกพันในอาชีพของบรรพบุรุษ และความต้องการพึ่งตนเองให้ได้ แรงผลักดันจากภายนอก ได้แก่ อิทธิพลจากสมาชิก/กลุ่มหรือองค์กร และการมีผู้นำชุมชนเป็นต้นแบบ เงื่อนไขที่มีผลต่อการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของเกษตรกร คือ ประสบการณ์ชีวิตที่ได้รับภายนอกชุมชน ทำให้สามารถวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคได้ชัดเจนขึ้น และการได้มีโอกาสไปศึกษาดูงาน เห็นความสำเร็จและตัวอย่างเกษตรกร ทำให้เห็นผลดีของการทำเกษตรอินทรีย์ในหลายมิติ
3.สภาพการณ์โดยรวมของระบบการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์และความเป็นไปได้ในการขยายการผลิตจากข้าวหอมอินทรีย์เป็นระบบการเกษตรอินทรีย์ พบว่า (1) เกษตรกรกลุ่มอินทรีย์ผสมผสานสามารถพึ่งตนเองได้ด้านอาหาร มีการบริโภคผลผลิตจากระบบถึงเกือบ 100% ยกเว้นสัตว์เลี้ยงขนาดใหญ่บางส่วน มีการใช้ประโยชน์จากผลผลิตหรือผลพลอยได้ไปสู่การผลิตอีกอย่างหนึ่ง มีการพึ่งตนเองในปัจจัยการผลิตถึง 85% มีการซื้อจากภายนอกเพียง 15% การเพิ่มรายได้โดยการมีการจำหน่ายผลผลิตที่ได้จากระบบเกษตรอินทรีย์ถึง 79% ผลผลิตเหล่านี้เหลือจากการบริโภคหรือใช้ประโยชน์ในครัวเรือน จึงเป็นการเพิ่มรายได้เสริมรายได้หลักที่มาจากการขายข้าวหอมมะลิอินทรีย์ นั่นคือ ส่วนที่ระบบผสมผสานเอื้อต่อการแก้ปัญหาความยากจนอีกทางหนึ่ง (2) การออม พบว่ากลุ่มเกษตรกรข้าวอินทรีย์ผสมผสานมีจำนวนเงินออดสูงสุดเฉลี่ย 13,050 บาท/ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในจำนวนกลุ่มเกษตรกรตัวอย่างศึกษา ส่วนการออมที่ไม่ใช่ตัวเงินแต่เป็นทรัพย์สินจะมีอยู่ในฟาร์มได้แก่ ไม้ยืนต้นและไม้ผลในระบบที่มีถึง 30% ของการผลิต ซึ่งเป็นการออมระยะยาว (3) การแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าและขยายโอกาสทางการตลาดนั้น พบว่ายังไม่มีการแปรรูปผลผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เหตุผล คือยังไม่มีความรู้เรื่องการแปรรูปผลผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์
4.การรวมกลุ่มและเครือข่ายของเกษตรกรผู้ผลิตข้าวหอมมะลิในระบบเกษตรอินทรีย์มีความเป็นไปได้ในระดับกลางค่อนข้างต่ำ เพราะว่ายังไม่มีการรวมกลุ่มผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ โดยตรงถึงแม้ว่าจะมีกลุ่มกิจกรรมอื่น ๆ ที่ได้รับการพัฒนาและสั่งสมศักยภาพมาอย่างค่อนข้างจะสมบูรณ์ อยู่แล้ว แต่กลุ่มการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ยังไม่เกิดขึ้น รวมทั้งยังไม่มีองค์กร/หน่วยงานจากภายนอกเข้ามาส่งเสริม การผลิตข้าวอินทรีย์ของเกษตรกรจึงยังไม่สามารถขยายผลสู่วงกว้างได้
5.โอกาสของการขยายวิธีการผลิตข้าวหอมมะลิในระบบเกษตรอินทรีย์ไปสู่เกษตรกรทั่วไป มีความเป็นไปได้อยู่ในระดับต่ำ เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการดำเนินมาตรการส่งเสริมที่ชัดเจน สภาพการณ์ของการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ผสมผสานในพื้นที่ศึกษา มีลักษณะที่เป็นไปเพื่อความสมดุลของวิถีชีวิตธรรมชาติและความพออยู่พอกินของเกษตรกรในระดับครัวเรือนเท่านั้น จัดว่าอยู่ในระดับของการก่อตัวในวงแคบกับเกษตรกรที่มีระบบการผลิตขนาดเล็ก ต้องการความเข้าใจและการสนับสนุนที่ถูกวิธีอยู่อีกมาก
6. ข้อเสนอแนะระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ
ข้อเสนอต่อรัฐ ประกอบด้วย (1) ข้อเสนอด้านการสร้างตลาดผลผลิตอินทรีย์ ภาครัฐควรมีนโยบายและกำหนดข้อปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อส่งเสริมให้เกิดตลาดข้าวอินทรีย์ภายในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม หน่วยงานของรัฐระดับจังหวัด ต้องพัฒนาและส่งเสริมตลาดการขายตรงระหว่างเกษตรกรหรือกลุ่มผู้ผลิตกับกลุ่มผู้บริโภค รณรงค์ให้บุุคลากรในหน่วยงานของรัฐรู้จักและบริโภคข้าวอินทรีย์ และส่งเสริมให้มีการทำผลิตภัณฑ์สินค้าอินทรีย์ มีร้านค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ การจัดให้มีแหล่งรับซื้อที่มีราคาพรีเมี่ยม ส่งเสริมและสนับสนุนด้านงบประมาณและการประกันราคาให้มีผลครอบคลุมอย่างทั่วถึงทั้งกลุ่มที่ผลิตเพื่อการส่งออกและกลุ่มผู้ผลิตเพื่อการบริโภคในครัวเรือนหรือในชุมชน และกำหนดระยะเวลาในการประกันราคาข้าวอินทรีย์ให้ชัดเจน (2) มีการสนับสนุน (Subsidy) ระยะปรับเปลี่ยน ให้กับกลุ่มเกษตรกรโดยตรง การตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ควรจัดทำระบบและมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ให้ตรงกับมาตรฐานของประเทศผู้นำเข้าผลผลิตเกษตรอินทรีย์ของโลก และควรมีกฎระเบียบในการใช้สารเคมีในระดับชุมชนอย่างชัดเจน และ (3) แนวทางด้านอื่น ๆ ได้แก่ การสนับสนุนองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดหาน้ำให้เพียงพอ ส่งเสริมการวิจัยด้านการผลิตพันธุ์ข้าวหอมมะลิโดยเกษตรกรมีส่วนร่วม จัดระบบภาคเรียนของนักเรียน ให้สอดคล้องกับฤดูการผลิตของเกษตรกร เพื่อให้เยาวชนมีโอกาสเรียนรู้ ใช้ชีวิตและรับการถ่ายทอดภูมิปัญญาและวิถีชีวิต บรรจุเนื้อหาด้านเกษตรอินทรีย์ในหลักสูตรการศึกษาในระดับชุมชน ส่งเสริมกิจกรรมการเผยแพร่ความรู้ และการใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึง
ข้อเสนอแนะระดับเกษตรกรผู้ปฏิบัติ เกษตรกรควรตั้งเป้าหมายเบื้องต้นว่าควรผลิตเพื่อบริโภคกันเองในครัวเรือนและในชุมชน เมื่อเหลือจากการบริโภคแล้วจึงมุ่งสู่ตลาด เกษตรกรต้องพึ่งตนเองให้ได้ก่อน และรวมกลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็ง จะทำให้ไม่ต้องพึ่งพิงระบบตลาดจนเกินไป ร้านค้าหรือผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อินทรีย์ในระดับท้องถิ่น อาจจะสร้างภาพลักษณ์สินค้าอินทรีย์ให้เห็นเด่นชัด หรือส่งสินค้าอินทรีย์โดยตรงต่อผู้บริโภค เพิ่มกิจกรรมที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ เช่น การปลูกพืชก่อนและหลังนา การเลี้ยงสัตว์น้ำอินทรีย์ในนาข้าว เป็นต้น
ข้อเสนอต่อองค์การ/ชุมชน/เครือข่าย ควรมีการพบปะเครือข่ายเกษตรกรทั้งระดับจังหวัด ระดับภาค ให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมมือกับองค์กรชุมชนอื่น ๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน ให้เกษตรกรมีการวิเคราะห์ ตืดตามข้อมูล ร่วมกัน เช่น เรื่อง จีเอ็มโอ ข้อตกลงการค้าเสรี มาตรฐานการรับรองผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ เป็นต้น
|