Abstract | การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อได้ผลวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการผลิตข้าวหอมมะลิในระบบเกษตรอินทรีย์ที่จะเป็นอาชีพทางเลือกที่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาความยากจนสำหรับเกษตรกร โดยมีเกษตรกลุ่มศึกษาในจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร และร้อยเอ็ด รวมจำนวน 476 ราย แยกเป็นเกษตรกรผู้ผลิตข้าวหอมมะลิทั่วไป 120 ราย ผู้ผลิตข้าวหอมมะลิระยะปรับเปลี่ยน 120 ราย ผู้ผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ 116 ราย และผู้ผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในระบบเกษตรผสมผสาน 120 ราย รวมทั้งได้ศึกษาผู้บริโภค 118 ราย ผู้ประกอบการโรงสีทั้งเอกชนและกลุ่มเกษตรกร 32 โรง ผู้ประกอบการค้าข้าวและการส่งออก 5 ราย และตัวแทนหน่วยงานราชการระดับจังหวัดและส่วนกลางที่เกี่ยวข้อง วิธีการวิจัยใช้แบบสำรวจเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งประกอบด้วยการศึกษาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลทุติยภูมิ การสำรวจตามแบบสอบถาม/สัมภาษณ์ และการศึกษาเชิงคุณภาพโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เจาะลึก การจัดสนทนากลุ่ม และการสังเกต ส่วนการวิเคราะห์ใช้ค่าร้อยละ และการวิเคราะห์เชิงคุณภาพตามกรอบคิดการวิจัย
ผลการศึกษาพบว่า การผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์มีความเป็นไปได้ในการเป็นอาชีพทางเลือกที่มีศักยภาพในการแก้ไขความยากจนทางสภาพสังคมและวัฒนธรรมในระดับสูงด้วยเหตุผล 6 ประการ ได้แก่ 1) มีเป้าหมายต่ออาชีพการเกษตรเพิ่มขึ้น 2) มีความสอดคล้องกับวัฒนธรรมของเกษตรกร 3) มีความเชื่อมั่น ทำจริง ขยัน ใฝ่เรียนรู้ และทดลองปฏิบัติ 4)ครอบครัวร่วมกันตัดสินใจเลือกการทำนาแบบอินทรีย์ 5) มีความเชื่อว่าเจ็บป่วยน้อยลงเนื่องจากเลิกใช้สารเคมีสังเคราะห์ 6) มีการรวมกลุ่ม เพราะการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์จะต้องอาศัยแรงใจและร่วมคิดร่วมทำ
มีความเป็นไปได้ในทางสภาพกายภาพและชีวภาพทางการผลิตในระดับกลางค่อนข้างสูงด้วยเหตุผล 5 ประการ ตามความเห็นของเกษตรกร ได้แก่ 1) สภาพดินได้รับการปรับปรุงให้มีความอุดมสมบูรณ์ 2) สิ่งมีชีวิตบนดินและในดินจำพวกตัวห้ำตัวเบียน ไส้เดือน และจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์มีจำนวนเพิ่มขึ้น 3) การจัดการการผลิตด้วยความพิถีพิถันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่ต้องรับรองมาตรฐานความเป็นอินทรีย์ 4) เกษตรกรให้ความเห็นว่า ข้าวหอมมะลิอินทรีย์สามารถปรับตัวต่อสภาวะฝนแล้งได้ดีกว่าข้าวหอมมะลิทั่วไป 5) ปีการผลิต 2547/48 ผลผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์เฉลี่ยต่อไร่ (373 กก./ไร่) สูงกว่าผลผลิตข้าวหอมมะลิทั่วไปเฉลี่ยต่อไร่ (334 กก./ไร่) ประมาณ 40 กก./ไร่ โดยมีพื้นที่เฉลี่ยการปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์และข้าวหอมมะลิทั่วไปเท่ากับ 14.98 ไร่ และ 14.00 ไร่ ตามลำดับ
มีความเป็นไปได้ทางสภาพเศรษฐกิจ ในระดับกลางด้วยเหตุผล 4 ประการ ได้แก่ 1) ต้นทุนรวมการผลิตต่อไร่ของการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ (2,918 บาท/ไร่) ถึงแม้จะสูงกว่าการผลิตข้าวหอมมะลิทั่วไป (2,789 บาท/ไร่) แต่มีต้นทุนเงินสด (941 บาท/ไร่) ต่ำกว่าการผลิตข้าวหอมมะลิทั่วไป (1,012 บาท/ไร่) และมีต้นทุนที่ไม่เป็นเงินสด (1,977 บาท/ไร่) สูงกว่าการผลิตข้าวหอมมะลิทั่วไป (1,777 บาท/ไร่) แสดงว่า การทำนาอินทรีย์จะใช้ปัจจัยการผลิตของตนเองมากกว่าการทำนาเคมี
2) ต้นทุนการผลิตข้าวหอมมะลิต่อกิโลกรัมทั้งต้นทุนรวม ต้นทุนเงินสด ต้นทุนไม่เป็นเงินสด และต้นทุนผันแปรของการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ (7.82, 2.52, 5.30 และ 6.94 บาท/กก. ตามลำดับ) ต่ำกว่าการผลิตข้าวหอมมะลิทั่วไป (8.36, 3.03, 5.33 และ 7.47 บาท/กก. ตามลำดับ) แสดงว่า ประสิทธิภาพในเชิงเศรษฐกิจของการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์สูงกว่าการผลิตข้าวหอมมะลิทั่วไป แต่พบว่า ต้นทุนต่อกิโลกรัมของการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ระยะปรับเปลี่ยนมีค่าสูงสุด
3) ในปีการผลิต 2547/48 ราคาโดยเฉลี่ยของข้าวหอมมะลิอินทรีย์สูงกว่าข้าวหอมมะลิทั่วไป เพราะการได้รับราคาพรีเมี่ยมจากความเป็นอินทรีย์ และคุณภาพข้าวหอมมะลิอินทรีย์มีเปอร์เซ็นต์ข้าวต้นสูง ซึ่งทำให้เกษตรกรผู้ผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์มีรายได้ (3,460 บาท/ไร่) สูงกว่าเกษตรกรผู้ผลิตข้าวหอมมะลิทั่วไป (2,802 บาท/ไร่) ประมาณ 660 บาท/ไร่ และพบว่าเกษตรกรทั้งทำนาอินทรีย์หรือนาทั่วไปได้ผลตอบแทนจากค่าแรงและวัสดุหรือปัจจัยการผลิตของตนเองเป็นหลัก โดยนาอินทรีย์มีกำไรสุทธิประมาณ 500 บาท/ไร่ หรือ 1.40 บาท/กก. ในขณะที่นาทั่วไปมีกำไรสุทธิ 13 บาท/ไร่ หรือ 0.04 บาท/กก. ส่วนนาอินทรีย์ระยะปรับเปลี่ยนขาดทุนสุทธิถึง 48 บาท/ไร่ หรือ 0.15 บาท/กก. ซึ่งการขาดทุนสุทธิและภาระต้นทุนสูงนี้จะเป็นแรงต้านสำคัญในการที่ทำให้เกษตรกรมักจะปรับเปลี่ยนไม่สำเร็จ
4) เมื่อเปรียบเทียบรายได้กับเส้นความยากจนที่ 1,040 บาทต่อคนต่อเดือนของเขตชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ เดือนมีนาคม 2548 พบว่า อาชีพทำนาข้าวหอมมะลิอินทรีย์มีศักยภาพการแก้ไขความยากจนสูงกว่าอาชีพทำนาข้าวหอมมะลิทั่วไป แต่จำนวนร้อยละของเกษตรกรที่มีรายได้จากข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่อยู่เหนือเส้นความยากจนยังคงมีเพียงร้อยละ 9, 21 และ 29 สำหรับนาข้าวอินทรีย์ระยะปรับเปลี่ยน นาข้าวอินทรีย์ และนาข้าวอินทรีย์ในเกษตรผสมผสาน ตามลำดับ ซึ่งอาจสรุปได้ว่า อาชีพการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์เพียงอย่างเดียวยังไม่ให้รายได้แก่เกษตรกรในการอยู่เหนือเส้นความยากจน หรืออาชีพการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์เพียงอย่างเดียวยังไม่แก้ความยากจนทางเศรษฐกิจ
ด้านตลาดข้าวหอมมะลิอินทรีย์ พบว่า ยังไม่เอื้อมากนักต่ออาชีพการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่จะเป็นอาชีพทางเลือกที่มีศักยภาพในการแก้ไขความยากจนทางเศรษฐกิจของเกษตรกร เพราะตลาดข้าวอินทรีย์ในประเทศและต่างประเทศตามความเห็นของผู้ประกอบการข้าวอินทรีย์ พบว่า มีลักษณะตลาดเฉพาะ (niche market) เป็นตลาดเล็ก ผู้บริโภคในประเทศและประเทศแถบเอเชียส่วนใหญ่ยังไม่ตอบสนองความเป็นอินทรีย์ของข้าวหอมมะลิมากนัก โดยเฉพาะราคาข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่มีราคาสูง ส่วนผู้บริโภคในประเทศที่พัฒนาแล้วแม้จะตระหนักถึงคุณค่าของข้าวหอมมะลิอินทรีย์ แต่ผู้บริโภคเหล่านี้มิได้บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก ดังนั้น ตลาดข้าวหอมมะลิอินทรีย์จึงยังมีขนาดเล็ก แต่ก็พบว่ามูลค่าการส่งออกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ของไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น
ด้วยสภาพทางตลาด การเป็นอาชีพทางเลือกของการผลิตข้าวหอมมะลิในระบบเกษตรอินทรีย์จึงไม่ควรมุ่งเรื่องราคาดี เพราะการมุ่งหวัง “ราคาข้าวอินทรีย์” อาจทำให้เกษตรกรผิดหวังและเลิกทำ ดังนั้น เกษตรกรจึงควรมีทัศนคติและแรงบันดาลใจในการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ด้วยผลตอบแทน 4 ประการ คือ 1) การฟื้นฟูแปลงนาให้อุดมสมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น 2) การลดต้นทุนการผลิตข้าวที่เป็นเงินสด โดยใช้ปัจจัยการผลิตที่ได้จากฟาร์มของตนเอง 3) การใช้ประโยชน์ความเป็นอินทรีย์ของฟาร์มทำการผลิตชนิดอื่น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนเสริมหรือได้เท่าหรือดีกว่าข้าว 4) การลดความเสี่ยงจากอันตราบในการใช้สารเคมีสังเคราะห์ปราบศัตรูพืชทำให้สุขภาพของตนเองและครอบครัวดีขึ้น
ผลการศึกษายังพบว่า ระบบเกษตรผสมผสานที่มีข้าวหอมมะลิอินทรีย์เป็นพืชหลักน่าจะเป็นอาชีพทางเลือกที่มีศักยภาพการแก้ไขความยากจนด้วยเหตุผล 5 ประการ ได้แก่ 1)มีความมั่นใจในการประกอบอาชีพเกษตรอินทรีย์ผสมผสาน 2) สามารถลดรายจ่ายค่าอาหารในครัวเรือนและได้บริโภคผลผลิตที่ปลอดภัยจากสารเคมีสังเคราะห์ตกค้าง 3)ลดค่าใช้จ่ายด้านปุ๋ยเคมีสังเคราะห์และสารเคมีสังเคราะห์ปราบศัตรูพืช 4) มีรายได้จากฟาร์มโดยไม่ต้องพึ่งรายได้จากการทำงานรับจ้างและการได้รับเงินจากบุตรหลาน 5) ความอุดมสมบูรณ์ของแปลงเกษตรผสมผสานเป็นการสร้างทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น
ศักยภาพของระบบเกษตรผสมผสานที่มีข้าวหอมมะลิอินทรีย์เป็นพืชหลักในการเป็นอาชีพทางเลือกที่มีศักยภาพในการแก้ไขความยากจนขึ้นกับความเข้มข้นของส่วนประกอบ 5 ประการ ได้แก่ 1)การสร้างระบบเกษตรที่ผสมผสานและหลากหลายโดยใช้ประโยชน์หรือเกื้อกูลกันของการผลิต 2) การพึ่งปัจจัยการผลิตในฟาร์มของตนเองมากที่สุด 3) การผลิตชนิดอื่นตามศักยภาพพื้นที่และตลาดต้องการ 4) ความขยันเก็บผลผลิตออกขายเป็นประจำจะเป็นการสร้างรายได้ 5) การเอาใจใส่ปักหลักการทำอาชีพเกษตรอินทรีย์ผสมผสานโดยอาศัยอยู่ในฟาร์ม 6) การรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่ายของเกษตรกรจะเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของอาชีพทางเลือกที่มีศักยภาพแก้ไขปัญหาความยากจน
ข้อเสนอต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) สร้างตลาดผลผลิตเกษตรอินทรีย์ รณรงค์ผู้บริโภคเพื่อขยายตลาดในประเทศและต่างประเทศให้มากขึ้น โดยสร้างความเข้าใจในการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ผู้เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง 2) จัดการเรียนรู้ข้อมูลตั้งแต่ต้นทุนการผลิตถึงการตลาดแก่เกษตรกรทั่วไป และเกษตรกรต้องมุ่งเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตสู่การพึ่งตนเองและความพอเพียง 3) สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์และเกษตรอินทรีย์ที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ของเกษตรกร
|