การศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของนักศึกษา ระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และ 2) ศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมของนักศึกษาระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้ศึกษาใช้ระเบียบวิธีวิจัยทั้งเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ โดยใช้แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม และการสนทนากลุ่ม เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล
การสุ่มตัวอย่าง ใช้แบบไม่ใช้ความน่าจะเป็นโดยตัวอย่างแบบบังเอิญ จากนักศึกษาระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ขนาดตัวอย่าง จำนวน 300 คน ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลในการสัมภาษณ์ ใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง จากอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ด้านการกล่อมเกลาทางการเมือง และจากตัวแทนนักศึกษาที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง ได้แก่ คณบดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และนายกสโมสรคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ใช้การเลือกแบบบังเอิญจากตัวแทนอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำนวน 4 คน และจากตัวแทนนักศึกษา จำนวน 2 คน ในการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสนทนากลุ่ม ใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง คือ นักศึกษาชุมนุมหมอลำการเมือง จำนวน 10 คน
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของนักศึกษาใช้การทดสอบไค-สแควร์ (The Chi-Square Test) เมื่อพบว่าตัวแปรมีความสัมพันธ์จะทำการทดสอบขนาดความสัมพันธ์โดยใช้ Cramer’s V วัดระดับความสัมพันธ์ข้อมูลมาตรานามบัญญัติและนามบัญญัติและข้อมูลมาตรานามบัญญัติและมาตราอันดับ และใช้ tau-c วัดระดับความสัมพันธ์ ข้อมูลมาตราอันดับและมาตราอันดับ สำหรับข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์และการสนทนากลุ่มที่ใช้วิธีวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนา ซึ่งเป็นการวิเคราะห์เชิงบรรยาย (Descriptive) และวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content Analysis)
ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้
(1)ระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของนักศึกษาระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในภาพรวม พบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายละเอียดในแต่ละด้าน พบว่า
(1.1)ด้านความสนใจทางการเมือง พบว่า นักศึกษามีความสนใจทางการเมืองอยู่ในระดับมาก
(1.2)ด้านการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง พบว่า นักศึกษามีส่วนร่วมทางการเมือง โดยการใช้สิทธิเลือกตั้งอยู่ในระดับมากที่สุด
(1.3)ด้านการเชิญชวนให้ผู้อื่นเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง พบว่า นักศึกษามีการเชิญชวนให้ผู้อื่นออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง อยู่ในระดับมาก
(1.4) ด้านการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง พบว่า นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองอยู่ในระดับน้อย
(2)ผลการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของนักศึกษาระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พบว่า ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของนักศึกษา ได้แก่ ปัจจัยด้านอายุ ชั้นปีที่ศึกษา ความสนใจข่าวสารทางการเมือง การกล่อมเกลาทางการเมืองโดยผ่านการเรียนวิชาการเมืองการปกครอง ผ่านการอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง การร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง การเข้าร่วมกิจกรรมความเคลื่อนไหวทางด้านการเมืองการวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็นทางการเมืองและการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ขณะที่ปัจจัยด้าน เพศ สาขาวิชา การเป็นสมาชิกสโมสรหรือชุมชนต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย และเหตุผลของการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของนักศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ
|