Title | ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อผลการปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด |
Publication Type | วิทยานิพนธ์/Thesis |
Year of Publication | 2552 |
Authors | มิรันตี เกิดศิริ |
Degree | รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต--สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ |
Institution | คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี |
City | อุบลราชธานี |
Call Number | JQ ม581ป |
Keywords | คณะกรรมการการเลือกตั้ง--บทบาทและหน้าที่, สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง--การบริหาร |
Abstract | การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลกระทบต่อผลการปฏิบัติงานสืบสวนและเพื่อเสนอแนะแนวทางมาตรการในการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการและวิธีการปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนของสำนักงานคณะกรรมการประจำจังหวัด ซึ่งงานวิจัยเรื่องนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลจากการศึกษาค้นคว้าเอกสารทางวิชาการ งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview) ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2552 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้บริหาร 7 คน หัวหน้างาน 2 คน และพนักงานสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด 14 คน บุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำหน้าที่จัดการเลือกตั้ง 3 คนและประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 4 คน รวมทั้งสิ้น 30 คน เครื่องมือที่ใช้คือ แบบสัมภาษณ์เชิงลึก แบบมีโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อผลการปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวน ได้แก่ 1)ทรัพยากรองค์การ ด้านงบประมาณยังไม่เพียงพอ ควรเพิ่มค่าใช้จ่ายในการอบรมพนักงานสืบสวนสอบสวนและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานเนื่องจากไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริง จำนวนบุคลากรมีน้อย ทำให้การปฏิบัติงานล่าช้า 2)ความโปร่งใสและความยุติธรรมของพนักงานสืบสวนรั่วไหลบ่อยครั้ง และการตรวจสอบทำได้ค่อนข้างยาก เพราะพยานหลักฐานและเอกสารต่าง ๆ ต้องเก็บเป็นความลับจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาด 3) ระเบียบ วิธีการและแนวทางปฏิบัติงานสืบสวน ยังไม่มีบรรทัดฐาน ขาดความยืดหยุ่น และระยะเวลาในการปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนและสรุปสำนวนน้อยเกินไป เป็นการเร่งรัด ทำให้สำนวนขาดความละเอียดลออ 4) การบังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำผิดการเลือกตั้งไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน ควรปรับปรุงให้มีความรวดเร็ว เด็ดขาดและยุติธรรม 5) การแทรกแซงของนักการเมืองพบว่า มีการแทรกแซงการปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวนของพนักงาน 6)ความร่วมมือของประชาชนในการตรวจสอบการทุจริตการเลือกตั้งน้อยมาก เนื่องจากมองว่าเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองและตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการตรวจสอบ 7)ความสนับสนุนขององค์กรเอกชน บทบาทในการตรวจสอบการทุจริตการเลือกตั้งและการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งน้อยมากและไม่มีประสิทธิภาพ 8)การบริหารงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (กกต.จว.) ขาดการเอาจริงเอาจังและเข้มงวดในการตรวจสอบ ดูแลการปฏิบัติงานของพนักงานสืบสวนสอบสวน กกต.จว. บางคนมีพฤติการณ์วางตัวไม่เป็นกลาง ทำให้การบริหารงานของ กกต.จว. บางครั้งเกิดความขัดแย้งกันเอง จึงไม่สามารถกำกับดูแลการปฏิบัติงานของพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาปรับปรุงกระบวนการและวิธีการปฏิบัติงานสืบสวนสอบสวน ผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่เสนอให้มีค่าวิชาชีพแก่พนักงานสืบสวน เนื่องจากมองว่าเป็นงานที่ต้องอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและมีความเสี่ยงต่อชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานและเป็นแนวทางในการป้องกันการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ด้วย ควรเพิ่มอัตรากำลังพนักงานสืบสวนสอบสวนให้เหมาะสมกับปริมาณงาน เพื่อลดปัญหาการปฏิบัติงานล่าช้า สนง.กกต. ควรมีกระบวนการคัดเลือกพนักงานสืบสวนสอบสวนและ กกต.จว.ที่เข้มงวด เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีความรู้ ความชำนาญอย่างแท้จริง มีความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นที่ประจักษ์ ในส่วนของนักการเมือง ต้องพัฒนาสถาบันพรรคการเมืองและนักการเมืองให้มีจิตสำนึกต่อสาธารณะ เพื่อให้การแข่งขันเป็นไปตามกฎ กติกา ที่กฎหมายกำหนด นอกจากนั้นผู้ให้ข้อมูลได้เสนอความเห็นด้านกฎหมายควรให้อำนาจในการจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งแก่พนักงานสืบสวนสอบสวน สนง.กกต. เพื่อให้การปฏิบัติงานทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ประชาชนควรให้ความร่วมมือในการตรวจจับการทุจริตการเลือกตั้ง เพื่อให้กระบวนการสืบสวนสอบสวนเกิดขึ้น และสามารถลงโทษผู้กระทำผิด ทั้งนี้ สนง.กกต. ควรมีค่าตอบแทนหรือเงินรางวัลให้กับผู้ให้ข้อมูลและแจ้งเบาะแสการกระทำผิดด้วย กกต.จว. ควรมีมาตรการในการควบคุม ตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจังและเคร่งครัด เพื่อป้องกันการทุจริตในหน้าที่และใช้อำนาจหน้าที่ในการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ
|
Title Alternate | The contributing factors to the process of investigation of the office of provincial election commission |