Title | ความหลากหลายทางชีวภาพและรูปแบบการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำในเขตอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี |
Publication Type | งานวิจัย/Research report |
Year of Publication | 2552 |
Authors | สมหมาย ชินนาค, กาญจนา ชินนาค |
Institution | คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี |
City | อุบลราชธานี |
Call Number | QH77.T5 ส288 |
Keywords | ความหลากหลายทางชีวภาพ, พื้นที่ชุ่มน้ำ--อุบลราชธานี |
Abstract | การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาพื้นที่ชุ่มน้ำในเขตอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งครอบคลุมบริเวณทั้งที่อยู่ในเขตเมือง คือ เทศบาลเมืองวารินชำราบ และพื้นที่เขตชนบท คือ ตำบลบุ่งไหม โดยมีวัตถุประสงค์อยู่ด้วยกัน 2 ประการ คือ เพื่อศึกษาถึงความหลากหลายทางชีวภาพ และรูปแบบการใช้ประโยชน์ของชุมชนจากความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรในบริเวณ ดังกล่าว
ระเบียบวิธีวิจัยที่ใช้คือ ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative) แต่จะใช้วิธีการเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ มีการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการร่วมมือกับชาวบ้านในพื้นที่ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่มย่อย การใช้แบบสำรวจ และการสำรวจเอกสารที่เกี่ยวข้อง
ผลการศึกษามีข้อค้นพบที่สำคัญ 2 ประการ คือ
ประการแรก ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ จากการศึกษาพบว่า ระบบนิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำในพื้นที่ที่ศึกษามีความหลากหลาย ทั้งระบบนิเวศน้ำ พืชน้ำ ระบบนิเวศกึ่งบกกึ่งน้ำ และระบบนิเวศบกที่มีภูมิลักษณ์แตกต่างกันที่นำมาซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ กล่าวคือ ความหลากหลายด้านพันธุ์ปลา พบพันธุ์ปลาจำนวนไม่ต่ำกว่า 133 ชนิด ความหลากหลายด้านพันธุพืช พบพันธุ์พืชจำนวนไม่ต่ำกว่า 180 ชนิด โดยในจำนวนนี้เป็นเห็ดถึง 26 ชนิด และความหลากหลายด้านพันธุ์สัตว์ พบพันธุ์สัตว์จำนวนไม่ต่ำกว่า 72 ชนิด
ประการที่สอง ด้านรูปแบบการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำ พบว่า ระบบนิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ ถือได้ว่าเป็นฐานของทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในการดำรงชีวิตและการดำรงอยู่ของชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ เนื่องด้วยเป็นระบบนิเวศที่เรียกว่า ระบบนิเวศป่าบุ่งป่าทาม ซึ่งมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่พึ่งพาทรัพยากรในป่าบุ่งป่าทามเป็นหลักเพื่อการเลี้ยงชีพ ทั้งนี้ จากการศึกษาสามารถจำแนกรูปแบบการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำออกเป็น 6 ประเภทหลัก ๆ คือ การเกษตร การหาปลา การเก็บหาของป่า การปั้นอิฐ การเลี้ยงวัวควาย และการเลี้ยงปลา
อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็คือ แต่เดิมนั้น พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นพื้นที่ที่เป็นสมบัติส่วนรวมชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์กันเต็มที่ แต่ปัจจุบันพื้นที่บางส่วนได้ถูกครอบครองโดยเอกชนหรือหน่วยงานรัฐ ซึ่งชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงและความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ ทำให้ไม่เพียงแต่เป็นการลดทอนความหลากหลายทางชีวภาพ หากแต่การใช้ทรัพยากรจากพื้นที่ชุ่มน้ำของชาวบ้านก็ลดลงด้วยเช่นกัน
ข้อเสนอของโครงการวิจัยนี้ เพื่อที่จะนำไปสู่การฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ชุ่มน้ำนี้อย่างยั่งยืนก็คือ เราไม่อาจทำได้ด้วยการแก้ไขทางด้านเทคโนโลยีอย่างเดียว หากต้องอาศัยการจัดการทางสังคมด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน มองปัญหาร่วมกัน และแก้ปัญหาร่วมกัน ใช้ระบบชักจูง โน้มนำ หรือกีดกันโดยความเห็นพ้องต้องกันของทุกฝ่าย อาจออกมารูปของระบบเกียรติยศ ระบบสิทธิที่มีความหลากหลายซับซ้อน ฯลฯ แต่ต้องล้วนเป็นระบบที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือร่วมในกันทั้งสังคมในการสร้างขึ้น อันเป็นการแก้ปัญหาแบบเคารพระบบนิเวศ ไม่ใช่เอาเทคโนโลยีไปทุ่มใส่เพื่อบิดผันธรรมชาติ เพราะพื้นที่ชุ่มน้ำและหน้าที่ในระบบนิเวศของพื้นที่เหล่านี้จะกลับคืนมาอีกได้ ก็โดยการปรับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วทั้งของคนในชุมชน ภาคธุรกิจเอกชน และภาครัฐให้สอดคล้องกับธรรมชาติต่างหาก
ดังนั้น แนวทางในการบริหารจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ โดยเน้นทั้งการจัดการทางสังคม และการจัดการทางเทคโนโลยีเป็นสำคัญ น่าจะทำให้พื้นที่ที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ ฟื้นสภาพเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำในเขตเมืองและชานเมืองที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ที่ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์เพื่อการดำรงชีวิตในฐานะที่เป็นแหล่งประกันความมั่นคงทางอาหาร ขณะเดียวกันก็ยังคงประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวทั้งทางนิเวศและวัฒนธรรมไปพร้อม ๆ กันด้วย
|
Title Alternate | Biodiversity and resource utilization in wetland areas, Warinchamrap district, Ubon Ratchathani province |