Title | การศึกษาประเภทธุรกิจและคุณลักษณะของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง |
Publication Type | วิทยานิพนธ์/Thesis |
Year of Publication | 2553 |
Authors | สุภาวดี ขุนทองจันทร์ |
Degree | ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต -- สาขาวิชาพัฒนาบูรณาการศาสตร์ |
Institution | คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี |
City | อุบลราชธานี |
Call Number | HD ส838 |
Keywords | ธุรกิจขนาดกลาง, ธุรกิจขนาดย่อม, ผู้ประกอบการ |
Abstract | การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประเภทธุรกิจและคุณลักษณะของผู้ประกอบการที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะนำไปสู่การดำเนินธุรกิจที่สมดุลและยับยั้ง ลดความเสี่ยงจากวิกฤตเศรษฐกิจ ใช้การวิจัยเชิงปริมาณด้วยวิธีการทางเศรษฐมิติ โดยใช้แบบจำลองตามลำดับ (ordered-probit) เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ของตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงในระดับเข้าข่าย เข้าใจ และเข้าถึง ผนวกกับการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลจากวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม จำนวน 117 ราย ที่ส่งผลงานเข้าประกวดตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนม์พรรษาครบ 80 พรรษา เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้างและการสังเกตการณ์ขณะเข้าเยี่ยมชมองค์กรธุรกิจ ผลการศึกษาปรากฏดังนี้
(1)ประเภทธุรกิจที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงคือ ธุรกิจที่มีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดได้จนไปถึงการส่งออก อยู่ในภาคการผลิต ตลาดมีลักษณะพิเศษ (niche market) ซึ่งเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้ผู้ประกอบการต้องปรับปรุงสินค้าด้วยการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การบริหารจัดการที่สามารถประยุกต์หลักการเศรษฐกิจพอเพียงทั้ง 14 หลักการได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้สินค้าและบริการมีลักษณะเฉพาะ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าและเป็นผู้นำในตลาดโลกด้วยนวัตกรรมที่แตกต่าง ธุรกิจประเภทดังกล่าวสามารถเป็นแบบอบ่างที่ดีธุรกิจอื่น ๆ ที่สนใจที่จะเรียนรู้และปฏิบัติตามได้
(2) คุณลักษณะของผู้ประกอบการที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงคือ เน้นการปฏิบัติธรรมเพราะการปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาทำให้พ้นจากสภาวะกดดันและความขัดแย้งจากการเน้นการแข่งขันนำไปสู่ชีวิตที่มีความสุขเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการเคยผ่านวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ จนมีความสามารถในการปรับตัว เรียนรู้วิธีการที่จะอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤติให้ความสำคัญกับทุนมนุษย์เพราะการพัฒนาทีมงานอย่างต่อเนื่องและดูแลพนักงานอย่างดี ทำให้มีภูมิคุ้มกันในการรองรับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่เกิดขึ้น และเป็นคนรุ่นใหม่ที่อายุน้อยมีการศึกษาดี มีความยืดหยุ่นและกล้าเปลี่ยนแปลงในสิ่งใหม่ ๆ ที่ท้าทาย มีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างต่อเนื่อง
(3) ตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อระดับความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงอย่างมีระดับนัยสำคัญทางสถิติในระดับเข้าข่ายได้แก่ อายุ การปฏิบัติธรรม การผ่านวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ประเภทธุรกิจส่งออก ขนาดวิสาหกิจ ทุนทรัพย์ ทุนสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ตัวแปรดังกล่าวยังคงมีระดับนัยสำคัญทางสถิติในระดับเข้าใจ ยกเว้นขนาดของวิสาหกิจ ในระดับเข้าถึงตัวแปรทุกตัวไม่มีระดับนัยสำคัญทางสถิติเพราะธุรกิจที่สามารถดำเนินการจากระดับเข้าข่ายมาสู่ระดับเข้าใจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้ประกอบการมีความสนใจในการปฏิบัติธรรมเพิ่มมากขึ้น จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้เข้าสู่ในระดับเข้าถึงได้ด้วยการปฏิบัติที่ต่อเนื่องจนเป็นวิถีชีวิต
(4)ผลประกอบการจากตัวอย่างของวิสาหกิจขนาดย่อมในปี 2548-2549 ทุกองค์กรมีกำไรจากการดำเนินงาน แม้จะประสบวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2549 ในระดับเข้าข่ายธุรกิจมีกำไรในปี 2549 ลดลงจากปี 2548 แต่ไม่เกิดปัญหาเนื่องจากยังสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับหนึ่ง ระดับเข้าใจกำไรเติบโตและขยายอย่างต่อเนื่อง ในปี 2549 เพิ่มขึ้นจากปี 2548 เนื่องจากมีทรัพยากรมนุษย์ที่ดีที่คิดนวัตกรรมใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดต้นทุนโดยไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพ ส่วนในระดับเข้าถึงกำไรไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากกำไรอยู่ในระดับที่พอเพียงแต่จะมุ่งช่วยเหลือสังคมส่วนรวมเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ทัศนคติในการทำกำไรแบบเศรษฐกิจพอเพียงคือ “การไม่แสวงหากำไรสูงสุด กำไรที่ได้จะต้องแบ่งปันผู้อื่นและนำมาซึ่งความสุขและความยั่งยืน”
(5)มูลเหตุจูงใจในการปรัับใช้เศรษฐกิจพอเพียง องค์กรที่อยู่ในระดับเข้าข่ายเกิดจากประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ส่วนระดับเข้าใจเกิดจากความกดดันและภาระหนี้สินเกิดจากความกดดันและภาระหนี้สินจากการดำเนินธุรกิจมาถึงทางดัน สำหรับระดับความเข้าถึงเกิดจากจิตใจที่ต่อต้านทุนนิยมแบบสามานย์ที่จะทำลายผู้คน ถึงแม้จะมีมูลเหตุจูงใจที่แตกต่างกัน สุดท้ายทั้ง 3 ระดับเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทางเลือกและทางรอดของประเทศไทยจากระบบทุนนิยม
โดยสรุป จากการศึกษาเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพประเภทธุรกิจที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงคือธุรกิจที่ดำเนินการส่งออกที่อยู่ในภาคการผลิตตลาดมีลักษณะพิเศษ ( niche market) ส่วนผู้ประกอบการที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง คือ ผู้ประกอบการที่เน้นการปฏิบัติธรรม มีประสบการณ์ในการผ่านวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ เน้นการพัฒนาทุนมนุษย์ และเป็นคนรุ่นใหม่ที่อายุน้อยมีการศึกษาดี ดังนั้น ธุรกิจที่อยู่ในระดับเข้าถึงได้นอกจากการให้ความสำคัญกับอิทธิพลของปัจจัยที่อยู่ในระดับเข้าข่ายและเข้าใจแล้วจะต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเป็นวิถีชีวิตโดยอาศัยปัจจัยอื่นสนับสนุนด้วยเช่น ระดับการศึกษาที่สูงขึ้น ในงานวิจัยชิ้นนี้ได้ค้นพบหลักการที่สำคัญอีก 1 หลักการ คือ การประพฤติปฏิบัติธรรมของผู้ประกอบ ควรเพิ่มเติมเป็นหลักการข้อที่ 15 ของหลักเศรษฐกิจพอเพียง
|
Title Alternate | Types of businesses and the characteristics of the entrepreneurs that are conductive to sufficiency economy |