Title | การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน และการประเมินการสูญเสียคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผักกาดขาวที่ผลิตในเขตจังหวัดจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว |
Publication Type | วิทยานิพนธ์/Thesis |
Year of Publication | 2559 |
Authors | สายพร ดวงสา |
Degree | วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต -- สาขาวิทยาการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว |
Institution | คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี |
City | อุบลราชธานี |
Call Number | HD ส661 2559 |
Keywords | การขนส่งสินค้า--ลาว, การบริหารงานโลจิสติกส์--ลาว, ผักกาดขาว--การขนส่ง |
Abstract | ผักกาดขาวเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดจำปาสักทางภาคใต้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) รองจากกาแฟ กะหล่ำปลี และกล้วย โดยมีผลิตเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ยังไม่มีข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน และการประเมินการสูญเสียคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผักกาดขาวที่ผลิตในเขตจังหวัดจำปาสัก สปป.ลาว ดังนั้น การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาต้นทุนและสภาพของระบบการผลิตในปัจจุบันและการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานในการผลิตผักกาดขาว และประเมินการสูญเสียคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผักกาดขาวอันเกี่ยวเนื่องกับการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน แบ่งเป็น 2 การศึกษา คือ การศึกษาที่ 1 ศึกษาต้นทุนและสภาพการผลิตและการจัดการโลจิสติกส์ และโซ่อุปทานในระบบการผลิตผักกาดขาวของจังหวัดจำปาสัก พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นรายย่อยที่มีพื้นที่ในการผลิตต่ำกว่า 10 ไร่ต่อราย มีต้นทุนปัจจัยการผลิตเฉลี่ย 12,357.88 บาทต่อไร่หรือ 3.09 บาทต่อกิโลกรัม และต้นทุนโลจิสติกส์รวม 2.25 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนใหญ่เป็นต้นทุนการจัดหาวัตถุดิบ ขณะที่ผู้รวบรวมฝ่าย สปป.ลาว มีต้นทุนโลจิสติกส์รวม 0.97 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนผู้รวบรวมฝ่ายประเทศไทยมี ต้นทุนโลจิสติกส์รวม 0.88 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้นทุนการเคลื่อนย้ายวัสดุและต้นทุนการขนส่งเป็นส่วนใหญ่ ระบบโซ่อุปทานประกอบด้วย เกษตรกร ผู้รวบรวมฝ่าย สปป.ลาว ผู้รวบรวมฝ่ายประเทศไทย และพ่อค้าขายส่งและขายปลีก ส่วนการศึกษาที่ 2 การประเมินการสูญเสียคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผักกาดขาวอันเกี่ยวเนื่องกับการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน พบว่า มีการสูญเสียรวม 18.62% (ไม่นับรวมการบริโภค) เป็นการสูญเสียที่แปลงปลูก 8.54% ด่านศุลกากรช่องเม็ก 7.03% และตลาดวารินเจริญศรี จังหวัดอุบลราชธานี 3.05% เป็นการสูญเสียจากทางกายภาพ และการตัดแต่งจำนวนมาก ส่วนการประเมินการสูญเสียของผักกาดในห้องปฏิบัติการ พบว่า ผักกาดขาวที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส มีการสูญเสียน้ำหนักมากที่สุดและมีอัตราการหายใจสูงที่สุด ขณะที่ผักกาดขาวที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส มีการสูญเสียน้ำหนักน้อยที่สุดและมีอัตราการหายใจต่ำที่สุด การเปลี่ยนแปลงสีผิวใบ (ค่า L a และ b) ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางด้านสถิติ (p <= 0.05) ขณะที่ปริมาณวิตามินซีมีแนวโน้มลดลงแต่ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในทางสถิติ ค่า minimal chlorophyll florescence (F0) เพิ่มขึ้น ขณะที่ค่า variable:maximal chlorophyll florescence (Fv/Fm) ลดลงในทุกอุณหภูมิและมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในทางสถิติ ค่าคะแนนความสดของผักกาดขาวลดลงเร็วที่สุด ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส และมีค่าคะแนนเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยที่ 5 องศาเซลเซียส จากการหาค่าสหสัมพันธ์ของข้อมูล พบว่า ค่า F0 และค่า Fv/Fm มีความสัมพันธ์ทั้งในทางบวกและลบกับค่าอื่น ๆ จึงน่าจะสามารถนำมาใช้ในการประเมินการสูญเสียคุณภาพแบบไม่ทำลายตัวอย่างของผักกาดขาวได้ ผักกาดขาวที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 15 และ 25 องศาเซลเซียส มีอายุการเก็บรักษา 30 15 และ 7 วัน ตามลำดับ ดังนั้น การมีระบบห้องเย็นที่อุณหภูมิ (5-15 องศาเซลเซียส) ร่วมกับการขนส่งน่าจะสามารถลดการสูญเสียและรักษาคุณภาพของผักกาดขาวได้ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของผักกาดขาวให้ดีขึ้น |
Title Alternate | Logistics and supply chain management and postharvest quality loss evaluation of brassica pekinensis produced in Champasak province, Lao People 's Democratic Republic |