ภูมิปัญญาผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมมะเกลือของกลุ่มชาติพันธุ์ส่วย เขมร ลาวและเยอในจังหวัดศรีสะเกษ

Titleภูมิปัญญาผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมมะเกลือของกลุ่มชาติพันธุ์ส่วย เขมร ลาวและเยอในจังหวัดศรีสะเกษ
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2557
Authorsบุญโรช ศรีละพันธ์
Degreeศิลปศาสตรมหาบัณฑิต--สาขาวิชาวิชาสังคมศาสตร์และการพัฒนา
Institutionคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberTS บ551 2557
Keywordsกลุ่มชาติพันธุ์--ศรีสะเกษ, การย้อมผ้า, การย้อมมะเกลือ, การย้อมสีผ้าไหม, ผ้าไหม--ศรีสะเกษ, ผ้าไหมลายลูกแก้ว, ผ้าไหมไทย--การผลิต, ภูมิปัญญาท้องถิ่น, ลาว, ส่วย, เขมร, เยอ
Abstract

การศึกษาภูมิปัญญาผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมมะเกลือ ของกลุ่มชาติพันธุ์ ส่วย เขมร ลาว และเยอ ในจังหวัดศรีสะเกษ มีวัตถุประสงค์ในการวิจัย คือ เพื่อศึกษาภูมิปัญญาเกี่ยวกับการผลิตผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมมะเกลือ และศึกษาปัจจัยที่ทำให้ภูมิปัญญาเกี่ยวกับการผลิตผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมมะเกลือได้รับการสืบทอดในกลุ่มชาติพันธุ์ ส่วย เขมร ลาว และเยอ ในจังหวัดศรีสะเกษ กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ส่วยบ้านเปือย หมู่ที่ 1 ตำบลพรมสวัสดิ์ อำเภอพยุห์ กลุ่มชาติพันธุ์เขมร บ้านเมืองหลวง หมู่ที่ 3 ตำบลเมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน กลุ่มชาติพันธุ์ลาว บ้านทุ่งไชย หมู่ที่ 3 ตำบลทุ่งไชย อำเภออุทุมพรพิสัย กลุ่มชาติพันธุ์เยอ บ้านปราสาทเยอ หมู่ที่ 1 ตำบลปราสาทเยอ อำเภอไพรบึง ของจังหวัดศรีสะเกษ
ผลการศึกษาพบว่า ภูมิปัญญาในการทอผ้าไหมลายลูกแก้วในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มีวิธีการเหยียบไม้เก็บตะกอไม่เหมือนกัน กลุ่มชาติพันธุ์ส่วยและเยอทอด้านบนผืนผ้าเป็นลายเส้นยืน ด้านล่างเป็นลายเส้นพุ่งแต่ในกลุ่มชาติพันธุ์เขมรและลาว ด้านบนจะเป็นลายเส้นพุ่ง ด้านล่างเป็นลายเส้นยืน กลุ่มชาติพันธุ์ลาวยังมีการทอแบบลายที่เกิดจากเส้นพุ่งทั้งด้านบนและด้านล่างดัวยภูมิปัญญาในการย้อมมะเกลือในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มีรายละเอียดในกระบวนการย้อมที่แตกต่างกัน กลุ่มชาติพันธุ์เขมรและลาวนิยมใส่พืชที่ให้กลิ่นหอม เช่น ใบเล็บครุฑ ต้นสาบแร้งสาบกา และว่านหอม เป็นต้น ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ส่วย มีนวัตกรรมใหม่ คือ ใส่น้ำยาซักผ้าขาวร่วมกับการย้อมมะเกลือเพื่อให้เสื้อสีดำเร็วขึ้น การปักเย็บในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มีการสร้างสรรค์ลวดลายต่างกันจนเกิดเป็นอัตลักษณ์ กลุ่มชาติพันธุ์เขมร มีเข้าตะเข็บด้วยลายตีนตะขาว และกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเข้าตะเข็บด้วยลายเอวมดแดง เพียงรอบเดียว กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนมีการเย็นตะเข็บสองรอบ คือ เย็บด้วยลายขามดแดงแล้วจึงเย็บหางสิงห์อีกครั้งหนึ่ง ส่วนในกลุ่มชาติพันธุ์เยอไม่พบการปักเย็บที่เป็นลวดลายเหมือนกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ
ด้านปัจจัยที่ทำให้ภูมิปัญญาเกี่ยวกับการผลิตผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมมะเกลือได้รับการสืบทอดในกลุ่มชาติพันธุ์ ส่วย เขมร ลาว และเยอ ในจังหวัดศรีสะเกษ เกิดจากปัจจัยภายในได้แก่ ชุมชน มีวัตถุดิบมีองค์ความรู้ในการผลิตผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมมะเกลือ ค่านิยมที่ผู้หญิงจะต้องเรียนรู้การผลิต และการใช้เวลาว่างในการผลิต รวมทั้งใช้ในพิธีกรรมความเชื่อต่างๆ ส่วนปัจจัยภายนอก คือ ได้รับการสนับสนุนจากนโยบายของรัฐบาล ให้มีการพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์เพื่อให้ภูมิปัญญาดังกล่าวอยู่คู่กับชุมชนต่อไป

Title Alternate Luk Kaew patterned ebony-dyed silk cloth: the wisdom of Kuy, Khmer, Lao and Nyeu ethnic group in Si Sa Ket province