ความเข้มแข็งของกลุ่มผลักดันการเคลื่อนไหวเรียกร้องกรรมสิทธิ์ที่ดิน : กรณีศึกษาชุมชนท่าวังหิน จังหวัดอุบลราชธานี

Titleความเข้มแข็งของกลุ่มผลักดันการเคลื่อนไหวเรียกร้องกรรมสิทธิ์ที่ดิน : กรณีศึกษาชุมชนท่าวังหิน จังหวัดอุบลราชธานี
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2555
Authorsนิภาพร พลมาก
Degreeรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต--สาขาวิชาการปกครอง
Institutionคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberHD น624 2555
Keywordsกรรมสิทธิ์ที่ดิน--อุบลราชธานี, การถือครองที่ดิน--อุบลราชธานี
Abstract

งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาถึงความเข้มแข็งของกลุ่มชุมชนท่าวังหินในการเคลื่อนไหวเรียกร้องกรรมสิทธิ์ที่ดินปัญหาอุปสรรคในการเคลื่อนไหว และแนวทางการพัฒนาความเข้มแข็งในการเคลื่อนไหวของกลุ่ม โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมมาได้ทั้งจากการสังเกตการณ์ การสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่มย่อย พบว่า ในการเคลื่อนไหวเรียกร้องกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้น กลุ่มชุมชนท่าวังหินมีความเข้มแข็งที่เด่นชัดในด้านแกนนำโดยกลุ่มฯ มีแกนนำที่มีศักยภาพสูงในการติดต่อประสานงานและกระจายข่าวสารสู่สมาชิก การติดตามการดำเนินงานประชุมปรึกษาหารือและกิจกรรมต่าง ๆ การแลกเปลี่ยนข้อมูล การเชื่อมโยงกับองค์กรต่าง ๆ การระดมทุนจากแหล่งต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แกนนำมีความกระตือรือร้นในการกระตุ้นจูงใจสมาชิกให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเคลื่อนไหวส่งผลให้สมาชิกเกิดการยอมรับและปฏิบัติตาม รองลงไป คือ ความเข้มแข็งด้านสมาชิก พบว่า สมาชิกมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างเหนียวแน่นและเป็นเอกภาพในการเคลื่อนไหวโดยแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้สมาชิกเข้ามาร่วมการเคลื่อนไหวอย่างเหนียวแน่นและเป็นเอกภาพคือความเดือดร้อนจากปัญหาความขัดแย้งกับรัฐด้านกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ยังเกิดจากแรงจูงใจด้านสังคม ที่สมาชิกภายในกลุ่มเกิดความภาคภูมิใจที่ได้รับการยอมรับให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหว
ด้านปัญหาอุปสรรคในการเคลื่อนไหว ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยสำคัญเกิดจากนโยบายของภาครัฐและกฎหมายที่ดินที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ชุมชนท่าวังหิน รวมทั้งการทำงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งเคร่งครัดเข้มงวดในการปฏิบัติงานและบังคับใช้กฎหมายและระเบียบข้อบังคับ ปัจจัยด้านโครงสร้าง โอกาสทางการเมืองที่ปิดไม่เอื้อต่อการเคลื่อนไหวดังกล่าว ส่งผลให้การเคลื่อนไหวของกลุ่มฯ ที่ผ่านมาไม่ประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังพบอีกว่าส่วนปัจจัยที่เป็นปัญหาอุปสรรคในการเคลื่อนไหวของกลุ่มฯ คือปัจจัยภายในการจัดการการเคลื่อนไหวของกลุ่มในด้านการสร้างประเด็นและการสนับสนุนจากสื่อมวลชน ตลอดจนการเลือกใช้ยุทธวิธีการเคลื่อนไหวที่กลุ่มชุมชนท่าวังหินยังไม่สามารถกดดันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เท่าที่ควร
แนวทางการพัฒนากลุ่มชุมชนท่าวังหินการเพิ่มจำนวนสมาชิกในกลุ่มชุมชนท่าวังหินให้เป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ และการสร้างเครือข่ายที่กว้างขวางในการเคลื่อนไหวผลักดันเรียกร้องกรรมสิทธิ์ที่ดิน และสมาชิกที่เข้ามาร่วมเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถมีประสบการณ์เรียกร้องกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ประสบผลสำเร็จเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มชุมชนท่าวังหิน

Title Alternate The strength of land ownership movement supporters: a case study of Ta Wang Hun community, Ubon Ratchathani