Title | การสร้างสรรค์หัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาไฟต่ำบ้านวังถั่วด้วยการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เหมาะสมกับอุปสงค์ของตลาดปัจจุบัน |
Publication Type | วิทยานิพนธ์/Thesis |
Year of Publication | 2556 |
Authors | สุภาพร อรรถโกมล |
Degree | ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต--สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ |
Institution | คณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี |
City | อุบลราชธานี |
Call Number | NK ส838 2556 |
Keywords | การผลิตเครื่องแั้นดินเผา, การออกแบบเครื่องปั้นดินเผา, ภูมิปัญญาชาวบ้าน--การออกแบบ, หัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา, เครื่องปั้นดินเผา--การผลิต--ขอนแก่น |
Abstract | เครื่องปั้นดินเผาเป็นสิ่งหนึ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อตอบสนองการใช้งานในการดำรงชีวิตประจำวัน เครื่องปั้นดินเผาจึงเป็นองค์ความรู้แขนงหนึ่งที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลายาวนาน การทำเครื่องปั้นดินเผาไฟต่ำในภาคอีสานนั้นเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อมาจากบรรพบุรุษอีกทั้งมีรูปทรงกระบวนการผลิตและการใช้งานที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของคนอีสาน แต่เหตุเพราะยุคสมัยในปัจจุบันด้วยความเจริญทางด้านวัตถุและเทคโนโลยีทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป จึงส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาแบบดั้งเดิม ยังผลให้ภูมิปัญญาการทำเครื่องปั้นดินเผาไฟต่ำแบบดั้งเดิมกำลังสูญหายไปด้วย
วัตถุประสงค์ในการวิจัยมี 3 ประการ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมา และบริบททางกายภาพ สังคม ภูมิปัญญาที่เกี่ยวกับงานหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาไฟต่ำ โดยใช้ชุมชนบ้านวังถั่วเป็นกรณีศึกษา 2) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษาข้างต้นนำมาพัฒนาวิธีการผลิต วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต และกระบวนการสร้างสรรค์หัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาไฟต่ำ และ 3) เพื่อทดลองผลิตงานหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาไฟต่ำ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน และทดสอบความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ และความเป็นไปได้ทางการตลาด โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เน้นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research) สรุปผลการวิจัยมีดังนี้
1)ประวัติความเป็นมาและบริบททางกายภาพ สังคม ภูมิปัญญาที่เกี่ยวกับงานหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาไฟต่ำ พบว่า ชุมชนบ้านวังถั่วเป็นกลุ่มชนที่อพยพมาจากจังหวัดศรีสะเกษและนครราชสีมา เมื่อประมาณปี 2473 ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่มีภูมิปัญญาความรู้ทางด้านการผลิต เครื่องปั้นดินเผาไฟต่ำ เมื่อพบว่าพื้นที่บ้านวังถั่วมีแหล่งดินที่เหมาะสมกับการผลิตเครื่องปั้นดินเผา จึงได้ตั้งบ้านเรือนและประกอบเป็นอาชีพผลิตเครื่องปั้นดินเผาไฟต่ำมีกระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน รูปแบบเรียบง่าย เน้นตอบสนองการใช้งานเป็นหลัก
(2)ข้อมูลจากการศึกษาพบว่า เครื่องปั้นดินเผาไฟต่ำเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมมีการขึ้นรูปด้วยวิธีการตี ผลิตภัณฑ์เป็นรูปแบบเดิม ๆ ทำให้ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ การศึกษาวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาและทดลองในแต่ละขั้นตอนกระบวนการผลิตโดยสรุปผลดังนี้ 1)วัตถุดิบสรุปได้ว่าเนื้อดินที่ได้จากการผสมดินบ้านวังถั่ว บ้านโคกสี และดินมหาวิทยาลัยขอนแก่น สามารถใช้เป็นเนื้อดินปั้นได้ทุกสูตร มีสีสันต่างกันตามอัตราส่วนของดินแต่ละชนิด ผลการทดลองผสมด้วยสีฝุ่นสามารถนำไปใช้ได้ดี สีที่ได้ภายหลังการเผาดูเป็นธรรมชาติ มีการเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อย การผสมวัสดุอื่น ๆ ลงในเนื้อดินไม่เหมาะสมกับการขึ้นรูปเนื่องจากทำให้เนื้อดินมีความเหนียวน้อยลง แต่สามารถนำไปใช้ตกแต่งพื้นผิวได้ดี 2) ผลการทดลองตกแต่งด้วยวิธีต่าง ๆ สามารถทำให้ผลิตภัณฑ์รูปทรงเดิม มีความน่าสนใจ ด้วยวิธีการออกแบบปรับลด เพิ่มเติมให้เกิดมิติใหม่ ๆ เป็นผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้าน น้ำผุด โดยเฉพาะลวดลายที่มีอัตลักษณ์อีสาน นอกจากนั้น การผสมผสานวัสดุอื่นเพิ่มด้วยการถักเส้นใยธรรมชาติ ซึ่งเน้นวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีความแปลกใหม่ แต่ยังคงความเป็นท้องถิ่นอีกด้วย 3) การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นของที่ระลึกขนาดเล็ก เนื่องจากต้องการให้สามารถผลิตได้ง่าย และเป็นแรงจูงใจให้เยาวชนในหมู่บ้านหันมาสนใจการทำเครื่องปั้นดินเผา 4) การเพิ่มมูลค่าให้กับของเสียจากการแตกร้าวโดยการปรับ ตกแต่งเพิ่มเติม เป็นน้ำผุดได้ผลเป็นที่น่าสนใจของท้องตลาดแต่เนื่องจากมีขนาดใหญ่ ทำให้ยากต่อการขนย้าย
(3) ทดลองผลิตงานหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาไฟต่ำ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ผลจากการศึกษา การมีส่วนร่วมของชุมชนสรุปได้ว่า ชุมชนมีความพึงพอใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์รู้สึกภูมิใจและมีความเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น เยาวชนให้ความสนใจในการทำเครื่องปั้นดินเผามากขึ้น นับเป็นสิ่งสำคัญในการปลูกฝังให้เยาวชนเข้าใจและเกิดความภาคภูมิใจในความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านการตลาดได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี แนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ควรคำนึงถึงหลักการ 4 ด้าน ดังนี้ 1) คุณค่าของภูมิปัญญา 2) การมีส่วนร่วมของชุมชน 3) อัตลักษณ์ และ 4) การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สัมพันธ์กับความต้องการของตลาด ประโยชน์ใช้สอย วัสดุและกระบวนการผลิต
|
Title Alternate | Creation of Ban Wangtua earthenware handicraft by integrating folk wisdom to meet present market demand |