ผลของน้ำท่วมขังที่มีต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตเมล็ดพันธุ์หญ้าอาหารสัตว์หกสายพันธุ์

Titleผลของน้ำท่วมขังที่มีต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตเมล็ดพันธุ์หญ้าอาหารสัตว์หกสายพันธุ์
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2557
Authorsสุภาพรรณ เพ็งเพชร
Degreeวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต--สาขาวิชาเกษตรศาสตร์
Institutionคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberSB ส838 2557
Keywordsหญ้า--การปลูก, หญ้ากินนีมอมบาซา, หญ้ากินนีสีม่วง, หญ้ามูลาโท, หญ้าอาหารสัตว์, หญ้าอุบลพาสพาลัม, หญ้าฮิวมิดิโคล่า, หญ้าเคย์แมน
Abstract

น้ำท่วมขังยังเป็นปัญหาหนึ่งในการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ในพื้นที่ลุ่มของภาคอีสาน การศึกษาผลของน้ำท่วมขังที่มีต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตเมล็ดพันธุ์หญ้าอาหารสัตว์ในครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของน้ำท่วมขังที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงทางสัณฐานวิทยา การเจริญเติบโตผลผลิตน้ำหนักแห้งลำต้นและใบ การฟื้นตัว องค์ประกอบผลผลิตและผลผลิตเมล็ดพันธุ์ ตลอดจนคุณภาพเมล็ดพันธุ์ของหญ้าอาหารสัตว์จำนวนหกสายพันธุ์
การศึกษานี้แบ่งออกเป็นสามงานทดลองคือ (1) การศึกษาผลของน้ำท่วมขังช่วงปลายระยะการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบต่อการเจริญเติบโตของหญ้าอาหารสัตว์หกสายพันธุ์ (2) การศึกษาผลของน้ำท่วมขังซ้ำซากช่วงปลายระยะการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบต่อการฟื้นตัวของหญ้าอาหารสัตว์หกสายพันธุ์ และ (3) การศึกษาผลของน้ำท่วมขังที่ช่วงต้นระยะสืบพันธุ์ต่อการสร้างองค์ประกอบผลผลิตและผลผลิตเมล็ดพันธุ์ และคุณภาพเมล็ดพันธุ์ของหญ้าอาหารสัตว์หกสายพันธุ์ งานทดลองทั้งหมดทำในโรงเรือนทดลอง ที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2555 ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2557 การทดลองเป็นแบบ Factorial experiment in Completely Randomized Design ประกอบด้วยสองปัจจัย คือ (1) สภาพน้ำท่วมขังสองระดับ (หญ้าที่ได้รับน้ำปกติ และหญ้าที่ถูกน้ำท่วมขัง) และ (2) หญ้าอาหารสัตว์จำนวนหกสายพันธุ์ (หญ้าพาสพาลัมอุบล หญ้ากินนีมอมบาซ่า หญ้ากินนีสีม่วง หญ้ามูลาโท 2 หญ้าเคย์แมน และหญ้าฮิวมิดิโคล่า)
ผลงานทดลองที่ 1 น้ำท่วมขังส่งผลให้หญ้าอาหารสัตว์ทั้งหกสายพันธุ์แสดงอาการใบเหลืองและใบชราภาพ การเจริญเติบโตในแง่ความสูงต้น จำนวนหน่อต่อกอ พื้นที่ใบ และผลผลิตน้ำหนักแห้งรวมลดลงเมื่อถูกน้ำท่วมขังนานขึ้น โดยหญ้ามูลาโท 2 เจริญเติบโตน้อยที่สุดในสภาพน้ำท่วมขังเมื่อจัดลำดับความทนทานต่อสภาพน้ำท่วมขัง หญ้าพาสพาลัมอุบลทนทานที่สุด รองลงมาคือหญ้าฮิวมิดิโคล่า หญ้าเคย์แมน หญ้ากินนีสีม่วง หญ้ากินนีมอมบาซ่า และหญ้ามูลาโท 2
ผลงานทดลองที่ 2 สภาพการฟื้นตัวหลังถูกน้ำท่วมขังซ้ำซาก การเจริญเติบโตของหญ้าอาหารสัตว์ที่ถูกน้ำท่วมขังในแง่ความสูงต้นมีค่ามากกว่าหญ้าที่ได้รับน้ำปกติ ขณะที่จำนวนหน่อต่อกอและพื้นที่ใบมีค่าลดลง เช่นเดียวกับผลผลิตน้ำหนักแห้งของหญ้าทุกสายพันธุ์ที่ถูกน้ำท่วมขังมีค่าต่ำกว่าในหญ้าที่ได้รับน้ำตามปกติ โดยที่หญ้าฮิวมิดิโคล่าฟื้นตัวได้เร็วกว่าหญ้าอุบลพาสพาลัม หญ้าเคย์แมน หญ้ากินนีสีม่วง หญ้ากินนีมอมบาซ่า ปละหญ้ามูลาโท 2
ผลงานทดลองที่ 3 น้ำท่วมขังไม่มีผลต่อจำนวนช่อดอกต่อกอ จำนวนช่อกระจะต่อช่อดอก และผลผลิตเมล็ดพันธุ์ แต่ส่งผลกระทบต่อน้ำหนัก 1,000 เมล็ด สำหรับคุณภาพเมล็ดพันธุ์ ความบริสุทธิ์ เมล็ดพันธุ์ของหญ้าทุกสายพันธุ์สูงมากกว่าร้อยละ 95 ส่วนความมีชีวิตและความงอกของเมล็ดพันธุ์ของหญ้าที่ถูดน้ำท่วมขังไม่แตกต่างกับของหญ้าที่ได้รับน้ำปกติ

Title Alternate Effect of waterlogging on growth and seed yield of six forage grasses