การผลิตลิปิดจากจุลินทรีย์โดยยีสต์สะสมไขมันในอาหารที่เตรียมจากสารสกัดจากชานอ้อยเพื่อนำไปใช้ในการผลิตไบโอดีเซล

Titleการผลิตลิปิดจากจุลินทรีย์โดยยีสต์สะสมไขมันในอาหารที่เตรียมจากสารสกัดจากชานอ้อยเพื่อนำไปใช้ในการผลิตไบโอดีเซล
Publication Typeงานวิจัย/Research report
Year of Publication2559
Authorsจันทรพร ทองเอกแก้ว
Institutionคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberQP751 จ249ก 2559
Keywordsการผลิตไบโอดีเซล, จุลินทรีย์ในอาหาร, ยีสต์, ลิปิด, สารสกัดจากชานอ้อย, ไขมัน
Abstract

จากการนำยีสต์ที่คัดแยกได้จากตัวอย่างจากดิน ดินปนเปื้อนคราบน้ำมัน และน้ำจากบ่อบำบัด ของโรงอาหารในบริเวณมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และตัวอย่างผลไม้เน่าเสียจากตลาดวารินเจริญศรี จำนวน 93 ไอโซเลต มาคัดเลือกยีสต์สะสมไขมันด้วยวิธีการย้อมสี Sudan black B พบว่ามียีสต์ทั้งหมด 60 ไอโซเลตที่ติดสีย้อมที่ไขมันภายในเซลล์ จากนั้นนำยีสต์ทั้ง 60 ไอโซเลตนี้มาเลี้ยงในอาหารสำหรับการผลิตไขมันที่มี 7 เปอร์เซ็นต์ของน้ำตาลกลูโคสเป็นแหล่งคาร์บอน และทำการสกัดไขมัน พบว่า มีจำนวน 5 ไอโซเลต ได้แก่ ยีสต์รหัส UBU-s7, UBU-s12, UBU-w4, UBU-w9/2 และ UBU-gt6/1 จัดเป็นยีสต์สะสมไขมัน เนื่องจากสะสมลิปิดภายในเซลล์สูงกว่าร้อยละ 20 ของน้ำหนักแห้ง จากนั้นนำยีสต์ 5 ไอโซเลตนี้มาศึกษาสภาวะที่เหมาะสมต่อการผลิตลิปิดของเชื้อ พบว่า ยีสต์รหัส UBU-s7 ผลิตลิปิดได้สูงที่สุดเมื่อเลี้ยงในอาหารที่มีสารสกัดจากชานอ้อยเริ่มต้นที่ 10% ค่า pH เริ่มต้นเท่ากับ 6.5 เมื่อเลี้ยงเป็นระยะเวลา 5 วัน ให้ค่าลิปิดเท่ากับ 1.51 กรัมต่อลิตร (29.03%) ยีสต์รหัส UBU-s12 ผลิตลิปิดได้สูงที่สุดเมื่อเลี้ยงในอาหารที่มีสารสกัดจากชานอ้อยเริ่มต้นที่ 15% ค่า pH เริ่มต้นเท่ากับ 6.0 เมื่อเลี้ยงในระยะเวลา 6 วัน ให้ค่าลิปิดเท่ากับ 1.20 กรัมต่อลิตร (27.90%) ยิสต์รหัส UBU-w4 ผลิตลิปิดได้สูงที่สุดเมื่อเลี้ยงในอาหารที่มีสารสกัดจากชานอ้อย 2.5-10% มีค่า pH เริ่มต้นเท่ากับ 6.0 เมื่อเลี้ยงเป็นระยะเวลา 5 วัน ให้ค่าลิปิดเท่ากับ 1.37 กรัมต่อลิตร (29.14%) ยีสต์รหัส UBU-w9/2 ผลิตลิปิดได้สูงที่สุดเมื่อเลี้ยงในอาหารที่มีสารสกัดจากชานอ้อย 5-10% ที่ค่า pH เริ่มต้นเท่ากับ 6.5 เมื่อเลี้ยงเป็นระยะเวลา 7 วัน ให้ค่าลิปิดเท่ากับ 1.15 กรัมต่อลิตร (26.92%) และยีสต์รหัส UBU-gt6/1 ผลิตลิปิดได้สูงที่สุดเมื่อเลี้ยงในอาหารที่มีสารสกัดจากชานอ้อย 10-20% ที่ค่า pH เริ่มต้นเท่ากับ 6 เมื่อเลี้ยงเป็นระยะเวลา 5 วัน ให้ค่าลิปิดเท่ากับ 1.18 กรัมต่อลิตร (27.44%) เมื่อวิเคราะห์องค์ประกอบของลิปิดโดยแก๊สโครมาโตกราฟี พบว่า กรดไขมันที่เป็นองค์ประกอบหลักเป็นสายยาวที่มีจำนวนคาร์บอน 16 และ 18 อะตอม โดยมีปริมาณของกรดโอเลอิกมากที่สุด รองลงมา คือ กรดปาล์มิติก และกรดลิโนเลอิก ตามลำดับ ซึ่งองค์ประกอบของกรดไขมันในลิปิดที่ยีสต์ผลิตได้นี้มีลักษณะเช่นเดียวกับองค์ประกอบของกรดไขมันในน้ำมันพืช ดังนั้นจากการศึกษานี้แสดงว่ายีสต์สะสมไขมันที่คัดแยกได้สามารถผลิตน้ำมันที่จะนำไปใช้เป็นแหล่งวัตถุดิบอีกแหล่งหนึ่งที่มีศักยภาพในการผลิตไบโอดีเซล

Title Alternate Production of microbial lipid by oleaginous yeast on sugarcane bagasse hydrolysate medium for biodiesel production