การค้นหา QTLs ควบคุมลักษณะต้านทานโรคไหม้และการพัฒนาพันธุกรรมข้าวเหนียวหอมที่มียีน Bph3 ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจากฐานพันธุกรรมข้าวสายพันธุ์ IR57514 เพื่อใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียว

Titleการค้นหา QTLs ควบคุมลักษณะต้านทานโรคไหม้และการพัฒนาพันธุกรรมข้าวเหนียวหอมที่มียีน Bph3 ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจากฐานพันธุกรรมข้าวสายพันธุ์ IR57514 เพื่อใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียว
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2559
Authorsธนาธิป ทาปลัด
Degreeวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต--สาขาวิชาเกษตรศาสตร์
Institutionคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberSB ธ243 2559
Keywordsข้าว--โรคและศัตรูพืช, ข้าว--โรคไหม้, เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล--การควบคุม, แมลงศัตรูพืช--การควบคุม
Abstract

ข้าวสายพันธุ์ IR57514 เป็นสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง ปรับตัวได้ดีในพื้นที่ปลูกข้าวอาศัยน้ำฝนข้าวสายพันธุ์นี้สามารถทนต่อน้ำท่วมฉับพลัน และต้านทานโรคไหม้ งานวิจันนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาตำแหน่งของ QTLs ควบคุมลักษณะต้านทานโรคไหม้ในข้าวสายพันธุ์ IR57514 และพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเหนียวหอมต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่มียีน Bph3 จากฐานพันธุกรรมข้าวสายพันธุ์ IR57514 เพื่อใช้ในโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียว การค้นหาตำแหน่งลักษณะปริมาณ (QTLs) ควบคุมลักษณะต้านทานโรคไหม้ในข้าวสายพันธุ์ IR57514 นั้นทำการศึกษาในประชากร recombinant inbred line (RILs) จำนวน 97 สายพันธุ์ ที่พัฒนามาจากคู่ผสมระหว่างข้าวสายพันธุ์ IR57514 (ต้านทานต่อโรคไหม้) และขาวดอกมะลิ 105 (อ่อนแอต่อโรคไหม้) โดยทำการประเมินความต้านทานโรคไหม้ด้วยเชื้อสาเหตุโรคไหม้จำนวน 11 ไอโซเลท ในระยะต้นกล้า พบว่า ความต้านทานโรคไหม้ในสายพันธุ์ IR57514 ถูกควบคุมด้วยลักษณะปริมาณจำนวน 6 ตำแหน่ง โดยวางตัวอยู่บนโครโมโซม 4 5 10 11 และ 12 และสามารถอธิบายลักษณะต้านทานต่อโรคไหม้ได้ตั้งแต่ 18.39 ถึง 68.23 เปอร์เซ็น โดย qBL12 แสดงลักษณะต้านทานต่อเชื้อสาเหตุโรคไหม้จำนวน 9 ไอโซเลท สามารถอธิบายความแปรปรวนลักษณะต้านทานโรคไหม้สูงสุดได้ตั้งแต่ 4.85 ถึง 63.29 เปอร์เซ็นต์ เครื่องหมายดีเอ็นเอที่เชื่อมโยงกับ QTLs เหล่านี้ จะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการนำไปใช้ช่วยในการคัดเลือกลักษณะต้านทานโรคไหม้ ผลจากการศึกษาบ่งชี้ว่า ข้าวสายพันธุ์ IR57514 สามารถใช้เป็นแหล่งพันธุกรรมของลักษณะต้านทานโรคไหม้ได้ การพัฒนาพันธุกรรมข้าวเหนียวหอมให้มียีนต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล Bph3 ดำเนินการโดยการผสมระหว่างข้าวเหนียวหอมสายพันธุ์ปรับปรุง RGD11259-1-9-25 (BC1F2) และข้าวเจ้าสายพันธุ์ปรับปรุง R4-4-2-134-18-57 (BC4F5) โดยปรับปรุงพันธุ์แบบสืบประวัติ และคัดเลือกลักษณะต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลร่วมกับการใช้เครื่องหมายดีเอ็นเอช่วยในการคัดเลือกในประชากรผสมตัวเองรุ่นที่ F2 ถึง F4 โดยเริ่มจากการแยกยีน Wx และ Bph3 บนโครโมโซม 6 ออกจากกัน ในประชากร F2 จำนวน 1140 ต้น ที่ได้จากต้น F1 จำนวน 1 ต้น ประเมินความต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลด้วยเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลประชากรอุบลราชธานีในระยะต้นกล้า (อายุข้าว 7 วัน) พบว่า มีต้นข้าว F2 ที่รอดชีวิตจากการถูกเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเข้าทำลาย จำนวน 461 ต้น เมื่อนำมาคัดเลือกโดยใช้เครื่องหมาย RM589, SSR24 และ RM588 ในลักษณะต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และ Wx-Glu23 ในลักษณะข้าวเหนียว ได้ต้นข้าว F2 ที่มีอัลลีลของยีน Bph3 เป็นแบบโฮโมไซกัส และอัลลีลของยีน wx เป็นแบบเฮเทอโรไซกัว (Bph3R4/R4, wxRGD/R4) จำนวน 6 ต้น จากนั้นปล่อยให้ต้นข้าว F2 ดังกล่าวผสมตัวเองเพื่อสร้างประชากร F3 แล้วนำไปประเมินความต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล พบว่า มีต้นข้าว F3 รอดชีวิตจำนวน 2 ต้น ได้แก่ สายพันธุ์ RGD13117-115-52 (Bph3R4/R4, wxRGD/RGD, badh2RGD/RGD) และสายพันธุ์ RGD13117-115-53 (Bph3R4/R4, wxRDG/RGD, badh2RGD/R4) จากนั้นปล่อยให้ผสมตัวเองเพื่อสร้างประชากร F4 และประเมินลักษณะต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ลักษณะข้าวเหนียว และลักษณะความหอม การประเมินลักษณะต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในระยะต้นกล้า (อายุข้าว 7 วัน) และระยะแตกกอ (อายุข้าว 25 วัน) โดยประชากรเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจำนวน 4 ประชากร ได้แก่ อุบลราชธานี พิษณุโลก กำแพงเพชร และน่าน พบว่า ข้าวเหนียวหอมสายพันธุ์ปรับปรุงจำนวน 2 สายพันธุ์ มีระดับความต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่สูงกว่าข้าวสายพันธุ์ RGD11259-1-9-25 ซึ่งเป็นสายพันธุ์แม่ การประเมินลักษณะข้าวเหนียวและลักษณะความหอมพิจารณาจากลักษณะทางกายภาพของเมล็ดข้าวกล้องและการดมกลิ่น ตามลำดับ พบว่า ข้าวทั้งสองสายพันธุ์มีลักษณะเป็นข้าวเหนียวและมีกลิ่นหอมมาก (คะแนน 2) ถึงกลิ่นหอมปานกลาง (คะแนน 1) การค้นพบ QTLs ควบคุมลักษณะต้านทานโรคไหม้ในข้าวสายพันธุ์ IR57514 และ การพัฒนาข้าวเหนียวหอมต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจากฐานพันธุกรรมข้าวเหนียวสายพันธุ์ปรับปรุง IR57514 สามารถนำไปใช้เป็นแหล่งพันธุกรรมที่สำคัญในการพัฒนาข้าวนาน้ำฝนให้ต้านทานต่อสภาวะความเครียดหลายลักษณะในพื้นที่ปลูกข้าวอาศัยน้ำในได้ต่อไป

Title Alternate Identification of quantitative trait loci controlling blast disease resistance and development of aromatic glutinous rice lines carrying brown planthopper resistance gene, Bph3, from IR57514 rice genetic background for glutinous rice breeding program