การประเมินศักยภาพธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี

Titleการประเมินศักยภาพธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2559
Authorsเปี่ยมฤทัย โสภาสาย
Degreeบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต
Institutionคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberTH ป765 2559
Keywordsการจัดการอุตสาหกรรม, การรับเหมาก่อสร้าง, ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง, อุตสาหกรรมการก่อสร้าง--การจัดการ
Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อศักยภาพธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง (2) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของระบบมาตรฐานที่มีอิทธิพลต่อประสิทธิภาพการดำเนินงาน (3) เพื่อทราบปัญหาและอุปสรรคจากการดำเนินงานของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและเป็นแนวทางในการแก้ไขพัฒนาธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ประกอบการธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 34 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ โดยใช้แบบสอบถามที่มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.823 ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple random sampling) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่ามัธยฐาน การวิเคราะห์ปัจจัย และการถดถอยเชิงพหุ
ผลการวิเคราะห์ปัจจัย พบว่า มีตัวแปรที่สะท้อนศักยภาพระบบมาตรฐาน 6 ด้าน ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 จำนวนทั้งสิ้น 26 ข้อคำถาม จากที่ศึกษาทั้งหมด 44 ข้อคำถาม ครอบคลุมองค์ประกอบหลักทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ การให้ความสำคัญกับลูกค้า ภาวะผู้นำ การมีส่วนร่วมของบุคลากร ระบบการจัดการ การปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและข้อเท็จจริงเพื่อการตัดสินใจ โดยสรุปองค์ประกอบย่อยที่มีค่าน้ำหนักมากที่สุด คือ ศักยภาพของผู้บริหารมีภาวะความเป็นผู้นำมีความรู้ ความสามารถที่จะนำพาองค์กรให้สามารถดำเนินงานได้อย่างเรียบร้อยตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ มีค่าน้ำหนักปัจจัย เท่ากับ 0.864 ส่วนค่าองค์ประกอบหลักของระบบมาตรฐานทั้ง 6 ด้าน มีค่าเป็นบวก มีขนาดตั้งแต่ 0.43-0.86 และมีความแปรผันร่วมกับระบบมาตรฐาน 6 ด้าน ได้ร้อยละ 86, 79, 78 และ 74 ตามลำดับ
ผลการวิเคราะห์ ระบบมาตรฐานที่มีผลต่อประสิทธิภาพการดำเนินงานธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายด้านเรียงจากมากไปน้อย ดังนี้ การให้ความสำคัญกับลูกค้า การมีส่วนร่วมของบุคลากร ระบบการจัดการ การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ด้านข้อเท็จจริงเพื่อการตัดสินใจอยู่ในระดับมากที่สุด และภาวะผู้นำอยู่ในระดับมาก
ผลการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ พบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่ออัตราส่วนตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (ROE) เรียงจากมากไปน้อยดังนี้ ระบบการจัดการ (β=11.490) การมีส่วนร่วมของบุคลากร (β=9.677) ภาวะผู้นำ (β=7.907) การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (β=3.704) การให้ความสำคัญกับลูกค้า (β=3.164) และข้อเท็จจริงเพื่อการตัดสินใจ (β=1.760)
ผลการวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคจากการดำเนินงานของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง พบว่า ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเป็นธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาวะเศรษฐกิจ ปัญหาที่พบสำหรับธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ได้แก่ ความเข้าใจเรื่องต้นทุนก่อสร้างอย่างแท้จริง ปัญหาเงินทุนหมุนเวียน ความสามารถในการบริหารงาน ขาดประสบการณ์ในธุรกิจ ทั้งนี้ นอกจากปัจจัยภายในยังมีปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การคอร์รัปชัน การใช้ตำแหน่งหรืออำนาจทางการเมืองและระบบอุปถัมภ์ เพื่อให้ได้มาซึ่งการประมูลงานหรือสัมปทาน นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับภัยธรรมชาติและอุบัติเหตุในงานก่อสร้างอีกด้วย

Title Alternate Performance assessment of construction business in Ubon Ratchathani province