Title | ผลของปุ๋ยและสารบราสสิโนไลด์ต่อการเจริญเติบโตและลักษณะสรีรวิทยาของกล้วยไม้วานิลลา |
Publication Type | วิทยานิพนธ์/Thesis |
Year of Publication | 2560 |
Authors | ศักดินันท์ จันทคณานุรักษ์ |
Degree | วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต--สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ |
Institution | คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี |
City | อุบลราชธานี |
Call Number | SB ศ321 2560 |
Keywords | กล้วยไม้--การเจริญเติบโต, กล้วยไม้--ปุ๋ย, กล้วยไม้--พันธุ์วานิลลา, การปลูกกล้วยไม้ |
Abstract | ปุ๋ยและสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชเป็นปัจจัยที่สำคัญในการส่งเสริมการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของพืช ในกล้วยไม้วานิลลา พบว่า การให้ปุ๋ยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตแต่การจัดการปุ๋ยมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ และยังไม่พบว่าไม่มีรายงานการศึกษาถึงชนิดและระดับของปุ๋ยที่เหมาะสมสำหรับการปลูกกล้วยไม้วานิลลาในประเทศไทย ขณะที่สารบราสสิโนไลด์ซึ่งเป็นสารในกลุ่มของฮอร์โมนบราสสิโนสเตอรอยด์ที่มีผลในการส่งเสริมการเจริญเติบโตและลักษณะทางสรีรวิทยาของพืช โดยเฉพาะการสังเคราะห์ด้วยแสงและการสะสมอาหารของพืชในสภาพปกติและสภาพความเครียด ซึ่งยังไม่พบรายงานการศึกษาในกล้วยไหม้วานิลลามาก่อน
การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของอัตราปุ๋ยเคมีทางดินและระดับความเข้มข้นของสารบราสสิโนไลด์ต่อการเจริญเติบโต ลักษณะทางสรีรวิทยา และการสะสมอาหารของกล้วยไม้วานิลลา ที่ทำการปลูกเลี้ยงในพื้นที่สภาพอากาศร้อนและแห้งแล้วของประเทศไทย โดยทำการทดลองในโรงเรือนพรางแสง 50-70% ที่มีการติดตั้งระบบน้ำแบบพ่นฝอยเพื่อเพิ่มความชื้น ณ สำนักงานไร่ทดลองและห้องปฏิบัติการกลาง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แบ่งออกเป็น 2 งานทดลอง คือ 1) การศึกษาผลของปุ๋ยเคมีทางดินสูตร 15-15-15 (N-P2O5-K2O) ในอัตรา 0 (ไม่ใส่ปุ๋ย) 30 60 และ 120 กรัมต่อต้น ต่อการเจริญเติบโตและลักษณะทางสรีรวิทยาของกล้วยไม้วานิลลา ระหว่างเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2559 และ 2) การศึกษาผลของสารบราสสิโนไลด์ในความเข้มข้น 0 (ไม่ให้สาร) 0.1 0.5 และ 1.0 ppm ต่อการเจริญเติบโตและลักษณะทางสรีรวิทยาของกล้วยไม้วานิลลา ระหว่างเดือนมีนาคม-กันยายน พ.ศ.2559 ระยะเวลาการทดลองละ 6 เดือน โดยวางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ (Completely Randomized Design: CRD)
ผลการทดลองที่ 1 พบว่าการให้ปุ๋ยในอัตรา 30 กรัมต่อต้น สามารถส่งเสริมการเจริญเติบโตของต้นกล้วยวานิลลาที่ดีกว่าการไม่ใส่ปุ๋ย และการให้ปุ๋ยในอัตรา 60 และ 120 กรัมต่อต้น ทั้งในการเพิ่มขึ้นของความสูง จำนวนข้อ จำนวนใบ ความยาวข้อปล้อง เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น ความยาวของใบ และพื้นที่ใบทั้งต้น รวมถึงการสะสมน้ำหนักสดและน้ำหนักแห้งของส่วนราก ลำต้น และใบพื้นที่ทั้งต้น และค่าความจำเพาะของใบ ที่พบในเดือนสุดท้ายของการทดลอง ขณะที่ลักษณะทางสรีรวิทยาของกล้วยไม้วานิลลา ได้แก่ ปริมาณของคลอโรฟิลล์เอ คลอโรฟิลล์บี คลอโรฟิลล์ทั้งหมด และแคโรทีนอยด์ ค่าสีผิวใบทั่วทั้งต้น และการสะสมคาร์โบไฮเดรตทั้งหมดที่ไม่อยู่ในรูปโครงสร้างและน้ำตาลรีดิวซ์ในส่วนลำต้นและใบของกล้วยไม้วานิลลาที่ให้ปุ๋ยในอัตรา 30 กรัมต่อต้น มีค่าสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบการไม่ใส่ปุ๋ย และสามารถรักษาระดับค่าประสิทธิภาพการใช้แสงสูงสุด (Fv/Fm) ให้คงที่มากกว่าการให้ปุ๋ยในอัตรา 60 และ 120 กรัมต่อต้น
ผลการทดลองที่ 2 พบว่า การให้สารบราสสิโนไลด์ความเข้มข้น 0.1 ppm มีผลทำให้ต้นกล้วยไม้วานิลลามีการเจริญเติบโตได้ดีกว่าต้นที่ไม่ให้สารบราสสิโนไลด์ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของการทดลองทั้งการเพิ่มขึ้นของความสูงต้น ความยาวข้อปล้อง เส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น ความยาวของใบ รวมถึงการสะสมน้ำหนักสดและน้ำหนักแห้งของส่วนราก ลำต้น และค่าความจำเพาะของใบ ที่พบในเดือนสุดท้ายของการทดลอง ขณะที่การให้สารบราสสิโนไลด์ในความเข้มข้น 0.5 และ 1.0 ppm มีผลด้านลบต่อการเจริญเติบโต ทำให้กล้วยไม้วานิลลามีการเจริญเติบโตลดลง ส่วนลักษณะทางสรีรวิทยาของกล้วยไม้วานิลลา พบว่าในช่วงเดือนที่ 2 และเดือนที่ 4 ของการทดลอง กล้วยไม้วานิลลาที่มีการให้สารบราสสิโนไลด์ 0.1 ppm มีแนวโน้มการสะสมคลอโรฟิลล์เอ คลอโรฟิลล์บี คลอโรฟิลล์ทั้งหมด และแคโรทีนอยด์ในใบ รวมถึงรักษาระดับค่าคลอโรฟิลล์ฟลูออเรสเซ็นท์และค่าประสิทธิภาพการใช้แสงสูงสุดได้ดีกว่าต้นที่ไม่ให้สารบราสสิโนไลด์และต้นที่ให้สารบราสสิโนไลด์ 0.5 และ 1.0 ppm ขณะที่การให้สารบราสสิโนไลด์ทุกความเข้มข้นมีผลทำให้การสะสมคาร์โบไฮเดรตทั้งหมดที่ไม่อยู่ในรูปโครงสร้างและน้ำตาลรีดิวส์ในส่วนลำต้นและส่วนใบสูงกว่าการไม่ให้สารบราสสิโนไลด์
ส่วนอัตราการคายน้ำ ความต้านทานปากใบของทั้งสองการทดลองที่ไม่มีความแตกต่างในทุกสิ่งทดลอง แสดงให้เห็นว่าการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้วานิลลาในสภาพโรงเรือนพรางแสง 50-70% และเพิ่มระบบน้ำแบบพ่นฝอยมีความเหมาะสมในการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้วานิลลาในสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งของประเทศไทย
|
Title Alternate | Effect of fertilizer and brassinolide on growth and physiological characteristics of vanilla (Vanilla planifolia Andrews) |