การพัฒนาความเข้าใจมโนมติวิทยาศาสตร์ เรื่อง กรด-เบส ด้วยวัฎจักรการเรียนรู้แบบสืบเสาะ 5 ขั้น ผสมผสานกับเทคนิคการแข่งขันเกมแบบกลุ่มสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5

Titleการพัฒนาความเข้าใจมโนมติวิทยาศาสตร์ เรื่อง กรด-เบส ด้วยวัฎจักรการเรียนรู้แบบสืบเสาะ 5 ขั้น ผสมผสานกับเทคนิคการแข่งขันเกมแบบกลุ่มสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2560
Authorsศิริธร อ่างแก้ว
Degreeวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต--สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ศึกษา
Institutionคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberQD ศ455 2560
Keywordsกรด--การศึกษาและการสอน (มัธยมศึกษา), การสอนวิทยาศาสตร์, การเรียนรู้แบบสืบเสาะ 5 ขั้น, วิทยาศาสตร์--การศึกษาและการสอน (มัธยมศึกษา), เทคนิคการแข่งขันแบบกลุ่ม, เบส (เคมี)--การศึกษาและการสอน (มัธยมศึกษา)
Abstract

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความเข้าใจมโนมติวิทยาศาสตร์ของนักเรียนเรื่อง กรด-เบส ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ด้วยการจัดการเรียนรู้แบบวัฏจักรสืบเสาะ 5 ขั้น ผสมผสานกับเทคนิคการแข่งขันเกมแบบกลุ่ม (TGT) โดยเป็นการวิจัยแบบกลุ่มตัวอย่างเดียวมีการทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน กลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยมีทั้งหมด 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1 และ 5/2 จำนวน 62 คน ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 กลุ่มที่สอง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1 และ 5/2 จำนวน 70 คน ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 โรงเรียนสกลนครพัฒนศึกษา จังหวัดสกลนคร เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง คือ แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง กรด-เบส ด้วยวัฏจักรการเรียนรู้แบบสืบเสาะ 5 ขั้น ผสมผสานกับเทคนิคเกมการแข่งขันแบบกลุ่ม จำนวน 3 แผน รวม 14 ชั่วโมง และ 2) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบทดสอบวัดความเข้าใจมโนมติแบบวินิจฉัยสองลำดับขั้น เรื่องกรด-เบส จำนวน 20 ข้อ โดยขั้นที่ 1 เป็นแบบปรนัย 4 ตัวเลือก และขั้นที่ 2 เป็นการเขียนอธิบายเหตุผลประกอบตัวเลือกในขั้นที่ 1 วิเคราะห์ข้อมูลโดยจัดกลุ่มมโนมติของนักเรียนออกเป็น 3 กลุ่ม และคำนวณหาค่าร้อยละของนักเรียนในแต่ละกลุ่มมโนมติ
ผลการวิจัยพบว่าในปีการศึกษา 2558 นักเรียนกลุ่มตัวอย่างมีคะแนนมโนมติหลังเรียน (ค่าเฉลี่ย 63.68 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 7.51) สูงกว่าก่อนเรียน (ค่าเฉลี่ย 10.71 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 3.16) แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับค่า p น้อยกว่า 0.05 โดยนักเรียนมีความก้าวหน้าทางการเรียนแบบปกติอยู่ในระดับปานกลาง (=0.60) โดยก่อนเรียนร้อยละของนักเรียนส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มมโนมติผิด (52.97) และหลังเรียนร้อยละของนักเรียนส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มมโนมติถูกต้อง (64.41) จะเห็นได้ว่าร้อยละของนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มมโนมติถูกต้องมีค่าเพิ่มขึ้น (+50.04) ในขณะที่ผลรวมร้อยละของนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มมโนมติผิดและคลาดเคลื่อนมีค่าลดลง (-50.04) และในปีการศึกษา 2559 พบว่านักเรียนกลุ่มตัวอย่างมีคะแนนมโนมติหลังเรียน (ค่าเฉลี่ย 35.70 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1.48) สูงกว่าก่อนเรียน (ค่าเฉลี่ย 3.85 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 2.43) แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 โดยนักเรียนมีความก้าวหน้าทางการเรียนแบบปกติอยู่ในระดับสูง (=0.88) โดยก่อนเรียนร้อยละของนักเรียนส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มมโนมติผิด (80.46) และหลังเรียนร้อยละของนักเรียนส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มมโนมติถูกต้อง (86.17) จะเห็นได้ว่าร้อยละของนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มมโนมติถูกต้องมีค่าเพิ่มขึ้น (+85.96) ในขณะที่ผลรวมร้อยละของนักเรียนที่อยู่ในกลุ่มมโนมติผิดและคลาดเคลื่อนมีค่าลดลง (-85.96) จากผลการวิจัยทั้ง 2 ครั้ง แสดงให้เห็นว่า การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะ 5 ขั้น ผสมผสานกับเทคนิคการแข่งขันเกมแบบกลุ่ม สามารถพัฒนาความเข้าใขมโนมติทางวิทยาศาสตร์เรื่อง กรด-เบส ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Title Alternate The development of scientific conceptual understanding of acid-base by using 5E inquiry learning cycle incorporated with teams games tournament for grade 11 students