ผลของกากแป้งมันสำปะหลังหมักเชื้อรา Rhizopus sp. ต่อการย่อยได้ และสมรรถนะการผลิตของสุกรรุ่น

Titleผลของกากแป้งมันสำปะหลังหมักเชื้อรา Rhizopus sp. ต่อการย่อยได้ และสมรรถนะการผลิตของสุกรรุ่น
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2559
Authorsสุขสันต์ ไชยวงค์
Degreeวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต--สาขาวิชาเกษตรศาสตร์
Institutionคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberSF ส746 2559
KeywordsRhizopus, กากแป้งมันสำปะหลัง, การผลิตสุกร, การเจริญเติบโตของสุกร, การเลี้ยงสุกร, การเลี้ยงหมู, สุกร--การเลี้ยง, สุกร--อาหาร, เชื้อรา, แป้งมันสำปะหลัง--อาหาร
Abstract

วัตถุประสงค์ในการศึกษาในครั้งนี้ เพื่อทราบผลการใช้กากแป้งมันสำปะหลังหมักเชื้อรา Rhizopus sp. ต่อการย่อยได้ของโภชนะและสมรรถนะการผลิตในสุกรรุ่นลูกผสมสามสาย (เปียเทรน x แลนด์เรซ x เหมยซาน) ที่ สปป.ลาว โดยเชื้อรา Rhizopus spp. ที่ใช้ในการศึกษาได้จากการคัดแยกจากตัวอย่างดิน ลูกแป้งสาโทของ สปป.ลาว และลูกแป้งสุราพื้นเมืองเวียดนาม ใช้วิธีแยกเชื้อโดย dilution plating technique บนอาหาร PDA (Potato Dextrose Agar) ได้เชื้อรา Rhizopus spp. บริสุทธิ์จำนวน 15 ไอโซเลท เมื่อนำไปทดสอบกิจกรรมของเอนไซม์เซลลูเลสด้วยอาหาร Carboxymethyl Cellulose (CMC) พบว่า เชื้อรา Rhizopus spp. มีกิจกรรมของเอนไซม์เซลลูเลส (Hydrolysis Capacity value, HC value) จำนวน 3 ไอโซเลท ได้แก่ ไอโซเลท RHV01 (ที่แยกได้จากลูกแป้งเหล้าจากเวียดนาม) RHB02 (แยกได้จากดินจากอำเภอบาเจียง) และ RHS03 (แยกได้จากลูกแป้งสาโทของ สปป.ลาว) มีค่ากิจกรรมของเอนไซม์เท่ากับ 1.07 1.06 และ 1.19 ตามลำดับ โดยเชื้อรา Rhizopus sp. ไอโซเลท RHS03 มีกิจกรรมของเอนไซม์เซลลูเลสสูงอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ (P<0.01) เมื่อตรวจสอบลักษณะทางสัณฐานวิทยาและลักษณะการเจริญเติบโต สามารถจำแนกได้เป็นเชื้อรา Rhizopus oryzae เมื่อนำเชื้อรา R. oryzae ไอโซเลท RHS03 หมักร่วมกับกากแป้งมันสำปะหลังด้วยวิธีการหมักมีโปรตีนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.52 เป็นร้อยละ 7.34 ส่วนเยื่อใยลดลงจากร้อยละ 15.56 เหลือ 11.09 และพลังงานทั้งหมดลดลงจาก 3,895 เหลือ 3,656 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม เมื่อนำกากมันสำปะหลังหมักเชื้อรา R.oryzae ไอโซเลท RHS03 ไปผสมในอาหารสุกรรุ่นสูตรมันสำปะหลังในอัตรากากแป้งมันสำปะหลังหมักเชื้อราร้อยละ 0, 20, 30 และ 40 ปรับสูตรอาหารให้มีโปรตีนร้อยละ 17 และพลังงาน 3,300 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม นำไปทดสอบการย่อยได้ของโภชนะ ในสุกรลูกผสมสามสาย (เปียเทรน x แลนด์เรซ x เหมยซาน) เพศผู้ตอน น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 20 กิโลกรัม จำนวน 4 ตัว วางแผนการทดลองแบบ 4x4 Latin square design พบว่า อาหารทดลองทุกสูตรมีค่าการย่อยได้ของโภชนะ ได้แก่ สิ่งแห้ง โปรตีน เยื่อใย พลังงาน ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P>0.05) และเมื่อนำอาหารทดลองไปทดสอบสมรรถนะการผลิตในสุกรรุ่นลูกผสมสามสาย (เปียเทรน x แลนด์เรซ x เหมยซาน) น้ำหนักตัวเริ่มต้น 19.77±0.28 กิโลกรัม จำนวน 40 ตัว (เพศผู้ 20 และเพศเมีย 20 ตัว) วางแผนการทดลองแบบสุ่มในบล็อกสมบูรณ์ (Randomized Complete Block Design, RCBD) เลี้ยงสุกรด้วยอาหารที่ผสมกากแป้งมันสำปะหลังหมักเชื้อรา R.oryzae ไอโซเลท RHS03 ในอัตราร้อยละ 0, 20, 30 และ 40 และสิ้นสุดการทดลองเมื่อสุกรมีน้ำหนักเฉลี่ย 50 กิโลกรัม พบว่า สุกรมีอัตราการเจริญเติบโต อัตราการกินได้ และอัตราการแลกเปลี่ยนอาหารเป็นน้ำหนักตัว ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P>0.05) นอกจากนั้นยังพบว่า ต้นทุนค่าอาหารต่อน้ำหนักสุกรมีชีวิตลดลง โดยต้นทุนค่าอาหารเท่ากับ 50.28, 43.36, 40.25 และ 38.04 บาทต่อกิโลกรัมสุกรมีชีวิต ตามลำดับ ดังนั้น กากแป้งมันสำปะหลังหมักเชื้อรา R.oryzae ไอโซเลท RHS03 สามารถใช้ผสมอาหารเลี้ยงสุกรรุ่นลูกผสมสามสาย (เปียเทรน x แลนด์เรซ x เหมยซาน) ได้สูงสุดถึงร้อยละ 40 โดยไม่ส่งผลต่ออัตราการย่อยได้ของโภชนะและสมรรถนะการผลิต อีกทั้งยังสามารถลดต้นทุนค่าอาหารเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม

Title Alternate Effect of cassava pulp fermented by Rhizopus sp. fungi on digestibility and growth performance in growing pigs