การออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการสร้างตัวแบบเชิงคณิตศาสตร์โดยใช้กิจกรรมการทดลอง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

Titleการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการสร้างตัวแบบเชิงคณิตศาสตร์โดยใช้กิจกรรมการทดลอง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2560
Authorsชนันธร เข็มสุข
Degreeวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต--สาขาวิชาคณิตศาสตรศึกษา
Institutionคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberQA ช148ก 2560
Keywordsการสร้างตัวแบบเชิงคณิตศาสตร์, กิจกรรมการทดลอง, คณิตศาสตร์--การศึกษาและการสอน (มัธยมศึกษา), ตัวแบบเชิงคณิตศาสตร์
Abstract

การเรียนคณิตศาสตร์นั้นจะเน้นเนื้อหา กระบวนการคิด และทักษะที่จำเป็น ซึ่งมีจุดมุ่งหมายหลัก คือ ช่วยให้นักเรียนใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้มาแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตามนักเรียนส่วนใหญ่สามารถแก้ปัญหาได้เฉพาะปัญหาทางคณิตศาสตร์ แต่เมื่อเผชิญกับปัญหาที่ไม่ใช่ปัญหาทางคณิตศาสตร์ นักเรียนกลับไม่สามารถแก้ปัญหานั้นได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องนำมาพิจารณาในการจัดการเรียนการสอนในวิชาคณิตศาสตร์ โดยใช้กิจกรรมการทดลอง
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาความสามารถในการสร้างตัวแบบเชิงคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 2) เพื่อศึกษาความพึงพอใจที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการสร้างตัวแบบเชิงคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบุณฑริกวิทยาคาร อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 32 คน สุ่มแบบเจาะจง (Purposive sampling) โดยออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการสร้างตัวแบบเชิงคณิตศาสตร์สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในช่วงนอกเวลาเรียน ซึ่งกิจกรรมการเรียนรู้มีทั้งหมด 5 กิจกรรม และข้อสอบท้ายบทเรียน 2 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าดัชนีความสอดคล้องของข้อสอบ
ผลการวิจัยพบว่า นักเรียนสามารถใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์สร้างตัวแบบเชิงคณิตศาสตร์จากสถานการณ์ที่กำหนดได้ สามารถนำตัวแบบเชิงคณิตศาสตร์ไปอธิบายสถานการณ์ได้ ความสามารถในการสร้างตัวแบบเชิงคณิตศาสตร์อยู่ในระดับ 3 คิดเป็นร้อยละ 21.87 ในระดับ 4 คิดเป็นร้อยละ 56.26 และในระดับ 5 คิดเป็นร้อยละ 21.87 และมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการสร้างตัวแบบเชิงคณิตศาสตร์โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.5 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.37)
โดยสรุป นักเรียนที่เรียนด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการสร้างตัวแบบเชิงคณิตศาสตร์ โดยใช้กิจกรรมการทดลอง สามารถใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์สร้างตัวแบบเชิงคณิตศาสตร์จากสถานการณ์ที่กำหนดได้ ตลอดจนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวัน และมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก

Title Alternate Designing learning activities to promote mathematical modeling by using hands-on activity approach for grade 9 students