การศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบของการใช้ระบบการสรรหาแทนระบบการเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : กรณีศึกษา เทศบาลตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

Titleการศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบของการใช้ระบบการสรรหาแทนระบบการเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น : กรณีศึกษา เทศบาลตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2558
Authorsเดือนเพ็ญ ไชยกุล
Degreeรัฐศาสตรมหาบัณฑิต -- สาขาวิชาการปกครอง
Institutionคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberJS ด935ก 2558
Keywordsการเลือกตั้งท้องถิ่น--อุบลราชธานี, ระบบการสรรหา, ระบบการเลือกตั้ง, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น--การบริหาร--อุบลราชธานี
Abstract

การศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบของการใช้ระบบการสรรหาแทนระบบการเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศึกษากรณี: เทศบาลตำบลเมืองศรีไค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาเปรียบเทียบ ผลดี ผลเสีย ระหว่างระบบการเลือกตั้งกับระบบการสรรหาสมาชิกสภาเทศบาลตำบลเมืองศรีไค และ (2) ศึกษาผลกระทบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองระดับท้องถิ่น ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ รวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์จากกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้บริหารเทศบาล สมาชิกสภาเทศบาลที่มาจากการสรรหา พนักงานเทศบาลตำบลเมืองศรีไค และตัวแทนชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
ผลการวิจัย พบว่า
(1)กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้บริหารเทศบาลและสมาชิกสภาเทศบาลไม่เห็นด้วยดับการสรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่น เห็นควรให้เป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย การสรรหาไม่มีความเป็นธรรมกับชุมชนเพราะเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้ระบบอุปถัมภ์มากกว่าสามัญสำนึกในด้านคุณธรรมและจริยธรรมของคณะกรรมาธิการสรรหา ในการสรรหาครั้งนี้ฝ่ายความมั่นคงหรือทหารได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินการสรรหา ซึ่งโดยภาพรวมแล้วเป็นการไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรมกับชุมชน
แม้กระทั่งกลุ่มข้าราชการประจำยังมองว่า การได้มาซึ่งการสรรหาของสมาชิกสภาท้องถิ่นครั้งนี้นั้นไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ไม่มีการส่งเสริมหรือกระจายอำนาจในการพัฒนาท้องถิ่น ในกระบวนการสรรหาครั้งนี้ยังมีอุปสรรคในการดำเนินการตามกระบวนการ เช่น การจัดการเอกสารที่มีความสมบูรณ์ของตัวผู้สมัครรับการสรรหา การจัดการงบประมาณ การจัดการเวลาที่สูญเสียไปกับงานธุรการและความเป็นธรรมของคณะกรรมการสรรหาที่ยังขาดความเป็นธรรม ยังมีการอุปถัมภ์พวกพ้องกันอยู่ จึงทำให้การสรรหาขาดความชอบธรรม การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นด้วยการสรรหานั้นทำให้บรรยากาศการทำงานเป็นไปอย่างเงียบเหงา เป็นผลลบต่อการบริการจัดการ ในการสรรหาครั้งนี้ฝ่ายความมั่นคงหรือทหารได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินการ ระบบการสรรหาจึงไม่เหมาะสมที่จะนำไปใช้ในสังคมไทย
ด้านกลุ่มผู้แทนชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน มีความเห็นพ้องกันว่า การสรรหาครั้งนี้ไม่มีความเหมะสมที่นำมาพัฒนาท้องถิ่น ในการสรรหาครั้งนี้เป็นการสรรหาตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประชาชนในชุมชนไม่ได้รับรู้ถึงการสรรหาแต่อย่างใด ในการสรรหาครั้งนี้ไม่มีความเป็นธรรมกับชุมชน ไม่ได้ส่งเสริมหรือพัฒนาท้องถิ่น เป็นการขัดขวางผลประโยชน์ของประชาชนในสิทธิขั้นพื้นฐานอันพึงจะเกิดขึ้นกับสังคม การได้มาซึ่งการสรรหาสมาชิกสภาท้องถิ่นไม่มีความเหมาสมกับบริบทของท้องถิ่น เพราะผู้ได้รับการสรรหานั้นไม่อาจเข้าใจในปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชนเท่ากับคนในพื้นที่ ที่เข้าใจปัญหาของท้องถิ่นดี
(2) ผลกระทบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองระดับท้องถิ่น พบว่า ประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่กำหนดให้ใช้ระบบการสรรหาแทนระบบการเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่งผลกระทบต่อเจตนารมณ์และหลักเหตุผลในการจัดตั้งเทศบาลขึ้นในประเทศไทยอย่างรุนแรง ผิดต่อหลักการและเหตุผลในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยและกลายเป็นความพยายามในการดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการแบบกระทรวง ทบวง กรม หรือกลายเป็นหน่วยงานแบบส่วนภูมิภาคที่รัฐบาลมีอำนาจแต่งตั้ง โยกย้าย ข้าราชการหรือฝ่ายบริหารได้ แทนที่จะเกิดจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรงจากเจตนารมณ์ของการปกครองส่วนท้องถิ่น
ระบบการสรรหานี้ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าอยู่ในรูปแบบที่การบริหารการปกครองโดยราชการซึ่งในระดับประเทศเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “Bureacratic Polity” ซึ่งก็คือ ระบบการเมืองโดยระบบราชการ หรือ ระบบอมาตยาธิปไตย โดยระบบการสรรหานี้เปรียบเสมือนการสร้าง “Bureacratic Polity” ในการปกครองท้องถิ่น

Title Alternate The study compared the effects of a reciting system and the system of local government election :a case study of Mueang Si Khai subdistrict municipality, Warin Chamrap district, Ubon Ratchathani province