การประเมินคุณภาพน้ำใต้ดินเพื่อการบริโภคในโรงเรียนน้ำปลีกศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ

Titleการประเมินคุณภาพน้ำใต้ดินเพื่อการบริโภคในโรงเรียนน้ำปลีกศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2557
Authorsวรรณรัตน์ สีเขียว
Degreeวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต -- สาขาวิชาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม
Institutionคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberTD ว256ก 2557
Keywordsการประเมินคุณภาพน้ำ, คุณภาพน้ำ--การวิเคราะห์, คุณภาพน้ำบริโภค, น้ำ, น้ำเพื่อการบริโภค
Abstract

น้ำใต้ดินเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของการใช้อุปโภคและบริโภคในโรงเรียนน้ำปลีกศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ การตรวจสอบคุณภาพน้ำใต้ดินที่ใช้ในโรงเรียนจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้แน่ใจได้ว่าเหมาะสมสำหรับการบริโภค ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียน งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพของน้ำใต้ดินที่ใช้เพื่อการบริโภคในโรงเรียนน้ำปลีกศึกษา วิเคราะห์คุณภาพน้ำใต้ดินในเดือนกันยายน พ.ศ. 2556 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 และกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 โดยเก็บตัวอย่างน้ำใต้ดินในช่วงเวลา 07.00-08.00 น. จำนวน 4 จุด ดังต่อไปนี้ จุดที่ 1 น้ำใต้ดินบริเวณด้านข้างสนามฟุตบอล จุดที่ 2 น้ำใต้ดินที่ผ่านหอสูงบริเวณด้านข้างหอประชุม จุดที่ 3 น้ำใต้ดินที่ผ่านเครื่องกรองน้ำ และจุดที่ 4 น้ำใต้ดินที่เครื่องทำน้ำเย็น พารามิเตอร์ที่ทำการวิเคราะห์ ได้แก่ ความเป็นกรด-ด่าง (pH), การนำไฟฟ้าของน้ำ (EC), ปริมาณสารทั้งหมดที่ละลายได้ (TDS), ความกระด้างทั้งหมด (Total Hardness as CaCO3), คลอไรด์ (Cl), ไนเตรท (NO3), ซัลเฟต (SO4 2-), เหล็ก (Fe), แมงกานีส (Mn), อาร์ซินิก (As) และ Total Coliform เปรียบเทียบกับมาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดินที่ใช้บริโภคกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม US EPA และ WHO จากการศึกษาพบว่า ค่าความเป็นกรด-ด่างของตัวอย่างน้ำใต้ดินจุดที่ 1, 3 และ 4 ช่วงเดือนกันยายนเป็นไปตามมาตรฐานน้ำใต้ดินเพื่อการบริโภคของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ อยู่ในช่วง 6.5-9.2 ส่วนจุดที่ 2 มีค่าเท่ากับ 6.34 ต่ำกว่ามาตรฐาน ส่วนตัวอย่างน้ำใต้ดินทุกจุดในช่วงเดือนพฤศจิกายน และช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีค่าความเป็นกรด-ด่างต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดคืออยู่ในช่วง 4.61-6.18 ตัวอย่างน้ำใต้ดินมีค่าการนำไฟฟ้าของน้ำเป็นไปตามมาตรฐานของ WHO โดยในเดือนกันยายน
มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเดือนพฤศจิกายน และกุมภาพันธ์ และจุดที่ 1 มีค่าสูงกว่าจุดที่ 2, 3 และ 4 โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 170.29 µS/cm, 89.75 µS/cm, 88.74 µS/cm และ 81.24 µS/cm ตามลำดับ ตัวอย่างน้ำใต้ดินทั้ง 3 ช่วงเวลาและทุกจุดเก็บตัวอย่างน้ำใต้ดินมีปริมาณสารทั้งหมดที่ละลายได้เป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยในเดือนกันยายนมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเดือนพฤศจิกายน และกุมภาพันธ์ และจุดที่ 1 มีค่าสูงกว่าจุดที่ 2, 3 และ 4 โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 83.36 mg/L, 44.93 mg/L, 43.44 mg/L และ 40.83 mg/L ตามลำดับ การเพิ่มขึ้นของปริมาณสารทั้งหมดที่ละลายได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับค่านำไฟฟ้าของน้ำตัวอย่างน้ำใต้ดินทั้ง 3 ช่วงเวลาและทุกจุดเก็บตัวอย่างน้ำใต้ดินมีค่าความกระด้างทั้งหมดเป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยในเดือนกันยายนมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเดือนพฤศจิกายน และกุมภาพันธ์ และจุดที่ 1 มีค่าสูงกว่าจุดที่ 2, 3 และ 4 โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 76.62 mg/Lม 26.51 mg/Lม 17.93 mg/L และ 14.67 mg/L ตามลำดับ ตัวอย่างน้ำใต้ดินทั้ง 3 ช่วงเวลาและทุกจุดเก็บตัวอย่างน้ำใต้ดินมีปริมาณคลอไรด์เป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ US EPA โดยในเดือนกันยายนมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าเดือนพฤศจิกายน และกุมภาพันธ์ ปริมาณคลอไรด์มีค่าเฉลี่ยทั้ง 4 จุดที่ใกล้เคียงกัน คือ อยู่ในช่วง 2.77-3.82 mg/L ตัวอย่างน้ำใต้ดินทั้ง 3 ช่วงเวลาและทุกจุดเก็บตัวอย่างน้ำใต้ดินมีปริมาณซัลเฟตเป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปริมาณซัลเฟตในจุดที่ 2 มีค่าสูงกว่าจุดอื่น ๆ โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 10.80 mg/L ตัวอย่างน้ำใต้ดินทั้ง 3 ช่วงเวลาและทุกจุดเก็บตัวอย่างน้ำใต้ดินมีปริมาณเหล็กและแมงกานีสเป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยพบปริมาณเหล็กและแมงกานีสมากที่ตัวอย่างน้ำใต้ดินจุดที่ 3 มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.016 mg/L และ 0.031 mg/L ตามลำดับ พบว่าการเพิ่มขึ้นของแมงกานีสมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับปริมาณเหล็ก ตัวอย่างน้ำใต้ดินทั้ง 3 ช่วงเวลา และทุกจัดเก็บตัวอย่างน้ำใต้ดินไม่พบอาร์ซินิกปนเปื้อนในตัวอย่างน้ำใต้ดิน ตัวอย่างน้ำใต้ดินช่วงเดือนพฤศจิกายน มีปริมาณ Total Coliform สูงกว่ามาตรฐานในจุดที่ 2, 3 และ 4 พบในปริมาณ 33.0 MPN/100 ml, 4.0 MPN/100 ml และ 22.0 MPN/100 ml ตามลำดับ ในเดือนกันยายน และกุมภาพันธ์มีปริมาณ Total Coliform เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำบาดาลที่ใช้บริโภคกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากผลการทดลองสรุปได้ว่าตัวอย่างน้ำใต้ดินช่วงเดือนกันยายนมีค่าการนำไฟฟ้าของน้ำ ปริมาณสารทั้งหมดที่ละลายได้ ความกระด้างทั้งหมดและคลอไรด์ในปริมาณสูงกว่าช่วงเดือนพฤศจิกายนและกุมภาพันธ์เนื่องจากเป็นฤดูฝนซึ่งอาจมีการละลายไอออนต่าง ๆ ลงไปในน้ำใต้ดิน นอกจากนี้ค่าความเป็นกรด-ด่าง และ Total Coliform เป็นพารามิเตอร์ที่ทางโรงเรียนต้องเฝ้าระวัง เพื่อสุขภาพอนามัยของนักเรียนและบุคลากรในดรงเรียน โดยการเก็บตัวอย่างน้ำตรวจคุณภาพเป็นประจำและทำความสะอาดเครื่องกรองน้ำและเครื่องทำน้ำเย็นอยู่เสมอ ผลการทดลองที่ได้สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการปรับปรุงและพัฒนาน้ำใต้ดินให้สะอาดและได้มาตรฐานเพื่อการบริโภคต่อไป

Title Alternate Assessment of groundwater quality for drinking purpose in Nampleelsuksa school, Amphoe Mueang, Amnat Charoen