การกำจัดฟีนอลโดยเปอร์ออกซิเดสในถังปฏิกรณ์เยื่อกรองอัลตราฟิวเตรชั่น

Titleการกำจัดฟีนอลโดยเปอร์ออกซิเดสในถังปฏิกรณ์เยื่อกรองอัลตราฟิวเตรชั่น
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2558
Authorsอภิญญา อ่อนสาร
Degreeวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต -- สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
Institutionคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberTD อ253ก 2558
Keywordsการกำจัดฟีนอล, ถังปฏิกรณ์เยื่อกรองอัลตราฟิวเตรชั่น, น้ำเสีย--การบำบัด, โรงงานอุตสาหกรรม--การกำจัดของเสีย
Abstract

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการกำจัดฟีนอลด้วยเอนไซม์บริสุทธิ์เปอร์ออกซิเดสจากฮอสราดิช เกรด I ร่วมกับแผ่นเยื่อกรองอัลตราฟิวเตรชั่นด้วยการกรองแบบไหลปิดตาย เทคนิคการตรึงฮอสราดิชเปอร์ออกซิเดส ได้แก่ วิธีดูดซับทางกายภาพ วิธีเชื่อมขวาง และการทำพันธะโควาเลนต์โดยใช้กลูตารัลดีไฮด์เป็นสานเชื่อมไขว้บนพื้นผิวแผ่นเยื่อกรองบนแผ่นเยื่อกรองอัลตราฟิวเตรชั่นที่ทำจาก regenerated cellulose (RC) มีพื้นที่หน้าตัด 44 ตารางเมตร ขนาดคัดกรองน้ำหนักโมเลกุล 30 กิโลดาลตัน ถูกศึกษาเพื่อหาวิธีการตรึงที่เหมาะสม แล้วนำไปศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการกำจัดฟีนอลโดยทำการศึกษาการเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของเอนไซม์ตรึง ความเข้มข้นของฟีนอล ค่าความเป็นกรด-ด่าง ความดัน และการนำเอนไซม์ตรึงกลับมาใช้ซ้ำ ผลการศึกษาพบว่ามีความเข้มข้นของกลูตารัลดีไฮด์ 0.1%(v/v) สามารถคงค่ากิจกรรมการทำงานของเอนไซม์ได้สูงสุดเท่ากับร้อยละ 87.02±0.33 เทคนิคการตรึงเอนไซม์ที่เหมาะสมใช้วิธีตรึงด้วยพันธะโควาเลนต์ (เปอร์เซ็นต์การตรึงที่ 90±0.25) และการกำจัดฟีนอลที่สภาวะต่าง ๆ พบว่าที่ความเข้มข้นของเอนไซม์ 0.113 ยูนิตต่อตารางเซนติเมตร มีประสิทธิภาพในการกำจัดฟีนอลได้สูงสุดร้อยละ 100 ที่ความเข้มข้นของฟีนอลเท่ากับ 1 มิลลิกรัมต่อลิตร พีเอช 6 ความเข้มข้นของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 0.5 ไมโครโมลาร์ (อัตราส่วนปริมาตรฟีนอลต่อไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เป็นอัตราส่วน 1:1) และความดันที่ใช้ดำเนินระบบ 0.1 บาร์ และนำเอนไซม์ตรึงกลับมาใช้ซ้ำ 5 รอบ พบว่าเอนไซม์ตรึงมีประสิทธิภาพกำจัดฟีนอลได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของการนำเอนไซม์ฮอสราดิชเปอร์ออกซิเดสมาประยุกต์ร่วมกับเทคโนโลยีเยื่อกรองเพื่อกำจัดฟีนอลในน้ำเสียได้

Title Alternate Removal of phenol by peroxidase in ultrafiltration membrane reactor
Fulltext: