Title | การพัฒนาผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้เพื่อเคหะสิ่งทอ : กรณีศึกษาผ้าทอนาหมื่นศรี ตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง |
Publication Type | วิทยานิพนธ์/Thesis |
Year of Publication | 2555 |
Authors | เกษหทัย สิงห์อินทร์ |
Degree | ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต -- สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ |
Institution | คณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี |
City | อุบลราชธานี |
Call Number | NK ก816ก 2555 |
Keywords | การออกแบบลายผ้า--ไทย (ภาคใต้), ผ้าทอนาหมื่นศรี, ผ้าทอพื้นบ้านภาคใต้, อุตสาหกรรมสิ่งทอ, อุตสาหกรรมสิ่งทอ--ไทย (ภาคใต้), เคหะสิ่งทอ |
Abstract | งานวิจัยนี้ได้ศึกษาวิจัยแนวทางการเพิ่มมูลค่าผ้าทอโดยการปรับใช้ประโยชน์ของผ้าทอในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำผ้าทอไปใช้กับผลิตภัณฑ์เคหะสิ่งทอประเภทต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วยการศึกษาเส้นใย การศึกษาการย้อมสีธรรมชาติ การศึกษาลวดลาย สีสันกระบวนการทอผ้าและปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาผ้าทอของผ้าทอนาหมื่นศรี
การวิจัยในครั้งนี้พบว่าในการปั่นส่วนผสมเส้นใยนั้นปริมาณใยไหมอีรี่มีผลต่อความแข็งแรงและการยืดตัวของเส้นด้าย เส้นใยที่ผสมใยไหมอีรี่ปริมาณมากกว่าจะมีความแข็งแรงและมีระยะการยืดตัวของเส้นด้ายสูงกว่าเส้นด้ายที่มีคุณภาพมากที่สุดเหมาะที่จะเลือกใช้ในงานเคหะสิ่งทอระดับหัตถกรรม คือ เส้นด้ายที่ปั่นจากเส้นใยผสมระหว่างเส้นใยยอีรี่กับเส้นใยฝ้ายในอัตราผสม 75:25 รองลงมาคือเส้นด้ายผสมระหว่างใยไหมอีรี่กับใยพืช คือ ใยคล้า ใยขมิ้นและใยหมากในอัตราส่วน 75:25 ปริมาณวัตถุดิบสำหรับการผลิตมีจำนวนมากและเพียงพอต่อการผลิตในปริมาณมากแต่พบว่าปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญคือในท้องถิ่นขาดแคลนความพร้อมด้านอุปกรณ์เครื่องมือที่มีคุณภาพและแรงงานในการผลิตที่ต้องการทักษะทางฝีมือสูงทำให้ต้นทุนของการผลิตเส้นด้ายมีราคาสูงตามไปด้วย
คุณภาพของสีย้อมจากธรรมชาติขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย นับตั้งแต่กระบวนการจัดเตรียมวัตถุดิบที่มีคุณภาพที่จะนำมาสกัดสี กระบวนการสกัดสีแต่ละชนิด สารช่วยย้อมที่มีประสิทธิภาพและทักษะความชำนาญของช่างย้อม เมื่อย้อมสีแล้วกระบวนการทดสอบความคงทนของสีย้อมตามมาตรฐานการทดสอบต่าง ๆ นับว่ามีความสำคัญ เพื่อรักษาคุณภาพของผ้าทอจากเส้นด้ายที่ย้อมสีธรรมชาติและพัฒนากระบวนการย้อมสีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นจากผลการทดสอบความคงทนของสีย้อมทั้งหมดนั้นเห็นได้ว่าการย้อมสีจากครั่ง คราม ใบสาบเสือ ใบเนียง ใบมังคุดและโกงกางนั้นมีความคงทนต่อสภาวะต่าง ๆ ได้ในระดับคุณภาพปานกลางถึงระกับคุณภาพดีมาก มีเพียงโกงกางเท่านั้นที่มีความคงทนของสีย้อมต่อการซักล้างในระดับ 1 มีการเปลี่ยนสีจากสีน้ำตาลเป็นสีแดง แสดงให้เห็นว่าด่างในสารซักล้างมีผลต่อสีย้อมจากโกงกาง ดังนั้นจึงควรมีการศึกษาวิจัยต่อไปเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากด่างในสารซักล้างต่อสีย้อมจากโกงกางหรือศึกษาวิจัยการนำด่างมาใช้ประโยชน์เป็นสารช่วยย้อมหรือทำให้เกิดเฉดสีที่แตกต่างกัน เพื่อพัฒนาผ้าทอจากเส้นด้ายที่ย้อมสีธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
การศึกษาลายผ้าและการทอผ้านาหมื่นศรี เป็นแนวทางสำคัญในการเพิ่มมูลค่าจากภูมิปัญญาการทอดั้งเดิม เป็นการเรียนรู้อดีตและประยุกต์ใช้จนกระทั่งนำไปสู่การสร้างสรรค์ลวดลายใหม่ ๆ สร้างความแตกต่างจากรากฐานเดียวกันใน 4 แนวทางคือ 1)ออกแบบลายผ้าใหม่ 2) ออกแบบลายผ้าใหม่แล้วนำไปใช้ร่วมกับลายดั้งเดิม 3) การสร้างลายผ้าโดยการสลับตำแหน่งลายและ 4) การปรับใช้โดยรักษาโครงสร้างลายเดิมไว้ จากการทดลองแนวทางที่ 4 นั้น พบว่า สามารถรักษาดอกลายเดิมไว้ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ ผลการวิจัยผืนผ้าที่ได้จากการทอในครั้งแรกพบว่าผ้าบาง จึงทำการแก้ไขโดยเปลี่ยนขนาดช่องฟืมให้เบอร์เล็กลงและเปลี่ยนด้ายยืนให้มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือใช้เส้นคู่ทำให้ได้ผืนผ้าทอเนื้อแน่นและแข็งแรงขึ้นเหมาะสำหรับการนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์เคหะสิ่งทอ
|
Title Alternate | The development of local textiles in southern region of Thailand for home textile products: A case study of Tambon Namuensri, Nayong District, Trang Province |