กายวิภาคศาสตร์เปรียบเทียบและนิเวศวิทยาของพืชถูกคุกคามสกุลจอกบ่วาย (วงศ์หยาดน้ำค้าง) ในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

Titleกายวิภาคศาสตร์เปรียบเทียบและนิเวศวิทยาของพืชถูกคุกคามสกุลจอกบ่วาย (วงศ์หยาดน้ำค้าง) ในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Publication Typeงานวิจัย/Research report
Year of Publication2559
Authorsช่อทิพย์ กัณฑโชติ
Institutionคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberQK917 ช317 2559
Keywordsกายวิภาคศาสตร์พืช, กายวิภาคเปรียบเทียบ, จอกบ่วาย, นิเวศวิทยาพืช, พืชกินแมลง, พืชล้มลุก--กายวิภาค, วงศ์หยาดน้ำค้าง
Abstract

พรรณไม้ในสกุลจอกบ่วาย (Drosera L.) เป็นพืชล้มลุกกินแมลง (insectivorous herbs) ขนาดเล็ก ใบเรียงแบบสลับเวียนหรือเป็นกระจุกแบบกุหลาบซ้อนที่มีต่อมปกคลุมหนาแน่นสำหรับจับแมลง มีช่อดอกแบบกระจุกและดอกสมบูรณ์เพศทั่วโลก มีประมาณ 110 ชนิด ส่วนใหญ่กระจายพันธุ์อยู่ในแถบทวีปออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ สำหรับประเทศไทยมีรายงานพบเพียง 3 ชนิดเท่านั้น (Larsen, 1987) ได้แก่ จอกบ่วาย (D. burmanii Vahl) หยาดน้ำค้าง (D.indica L.) และปัดน้ำ (D. Peltata Sm.) มีสรรพคุณทางยาทั้งตำรายาไทยและตำรายาพื้นบ้านอีสานนำมาใช้รักษาอาการตับอักเสบ แก้ท้องมาน และกลากเกลื้อนได้ (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล, 2543) นอกจากนี้ยังนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อความสวยงาม และมีบางชนิดที่ใช้ส่วนของลำต้นสดผสมในอาหารนกได้อีกด้วย
จากการประเมินสถานภาพพรรณไม้ในปัจจุบันของประเทศไทย พบว่า พืชสกุลจอกบ่วายทั้ง 3 ชนิด จัดอยู่ในกลุ่มพืชที่ถูกคุกคาม (threatened plant) และมีสถานะเป็นพืชหายาก (rare species) ที่มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง แต่เป็นพืชฤดูเดียวที่ต้องอาศัยระบบนิเวศที่เปราะบางของพื้นที่ชื้นแฉะตามฤดูกาล จึงมีระดับความเสี่ยงต่อการลดลงของจำนวนประชากรในถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ และมีโอกาสเป็นพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ (vulnerable) ได้ในอนาคต เนื่องจากถิ่นอาศัยถูกทำลายหรือเปลี่ยนสภาพไป (http://chm-thai.onep.go.th/chm/Dry/bdd_plant01.html, 2553 และธวัชชัย สันติสุข, 2548) จากข้อมูลการสำรวจพรรณไม้เบื้องต้นที่ผู้วิจัยได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจากโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ของกองส่งเสริมการวิจัยฯ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีงบประมาณ 2553 เรื่องความหลากหลายของพรรณไม้พื้นล่างในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ระยะที่ 1 นั้น พบพืชกินแมลงสกุลดังกล่าวทั้งในเขตพื้นที่การศึกษาและป่าดั้งเดิมของมหาวิทยาลัย จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ จอกบ่วาย และหยาดน้ำค้าง โดยพบว่าถิ่นอาศัยหลายแห่งกำลังมีการปรับปรุงพื้นที่และเกิดการเปลี่ยนสภาพไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นหากไม่มีการศึกษาวิจัยทางชีววิทยาเชิงพื้นที่เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการจัดการทรัพยากรพืชหายากต่อไปในอนาคต ก็มีโอกาสสูงที่ประชากรพืชทั้งสองชนิดจะลดจำนวนลงไปจากพื้นที่ของมหาวิทยาลัยภายในระยะเวลาอันใกล้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้สำคัญทางชีววิทยา การกระจายพันธุ์ และนิเวศวิทยา สำหรับวางแผนพัฒนาและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของพรรณไม้หายากสกุลดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีต่อไป

Title Alternate Comparative anatomy and ecology of the threatened plant genus Drosera L. (Droseraceae) in Ubon Ratchathani University