Abstract | การวิจัยครั้งนี้มีวัตถประสงค์ คือ 1) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบปัจจัยส่วนบุคคลที่มีผลต่อพฤติกรรมการทำงานของบุคลากร สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ 2) เพื่อศึกษาแรงจูงใจในการทำงานที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการทำงานของบุคลากร สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ 3) เพื่อศึกษาแรงจูงใจในการทำงานที่มีผลต่อพฤติกรรมการทำงานของบุคลากร สถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตศรีสะเกษ และ 4) เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการทำงานของกลุ่มบุคลากร สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล กลุ่มประชากรทั้งหมด 150 คน ในสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติต่าง ๆ ได้แก่ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติ t-Test สถิติ F-test การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของตัวแปรด้วยค่าสหสัมพันธ์ (Correlation Analysis) และวิเคราะห์ทางสถิติความถดถอยเชิงพหุคูณ (Multiple Regression Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า ด้านปัจจัยส่วนบุคคล ส่วนใหญ่ของผู้ตอบแบบสอบถามเป็นเพศชาย อายุ 50 ปี ขึ้นไป ระดับการศึกษาปริญญาตรี ระดับตำแหน่งงานลูกจ้างเหมาบริการ ระยะเวลาการทำงาน 9 ปีขึ้นไป อัตราเงินเดือนระหว่าง 9,000-15,000 บาท แผนกที่ปฏิบัติงานสำนักงานรองอธิการบดี ส่วนด้านแรงจูงใจในการทำงานทั้ง 5 ด้าน บุคลากรมีระดับความคิดเห็นในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย = 3.40) เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย คือ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (ค่าเฉลี่ย = 3.90) ด้านการยอมรับนับถือ (ค่าเฉลี่ย = 3.62) ด้านสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ค่าเฉลี่ย = 3.59) ด้านโอกาสในความก้าวหน้า (ค่าเฉลี่ย = 2.95) และด้านค่าตอบแทนและสวัสดิการ (ค่าเฉลี่ย = 2.93) และด้านพฤติกรรมการทำงานของบุคลากร 6 ด้าน บุคลากรมีระดับความคิดเห็นในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย = 3.97) เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย คือ ด้านการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ (ค่าเฉลี่ย = 4.35) ด้านความรับผิดชอบ (ค่าเฉลี่ย = 3.98) ด้านการทำงานเป็นทีม (ค่าเฉลี่ย = 3.96) ด้านการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ (ค่าเฉลี่ย = 3.93) ด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (ค่าเฉลี่ย = 3.85) และด้านการมีส่วนร่วม (ค่าเฉลี่ย = 3.74)
ปัจจัยส่วนบุคคล พบว่า เพศ อายุ ระดับการศึกษา ระยะเวลาการทำงานและแผนกที่ปฏิบัติงาน ไม่มีผลต่อพฤติกรรมการทำงานที่แตกต่างกันโดยปัจจัยส่วนบุคคลในระดับตำแหน่งงานและอัตราเงินเดือนที่แตกต่างกัน มีพฤติกรรมการทำงานแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนแรงจูงใจในการทำงานทุกด้าน มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับพฤติกรรมการทำงานของบุคลากรสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ อันได้แก่ สัมพันธภาพระหว่างบุคลากร การยอมรับนับถือ ค่าตอบแทนและสวัสดิการ โอกาสในความก้าวหน้าและสภาพแวดล้อมในการทำงาน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
ปัจจัยด้านแรงจูงใจในการทำงาน ด้านสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ด้านการยอมรับนับถือและด้านสภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดอันจะส่งผลต่อพฤติกรรมการทำงานของบุคลากรสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
ข้อเสนอแนะ หน่วยงานควรให้ความสำคัญในการบริหารงานบุคคล ด้านค่าตอบแทนและสวัสดิการและโอกาสในความก้าวหน้า เนื่องจากบุคลากรให้ระดับความคิดเห็นว่าทางหน่วยงานให้ความสำคัญปานกลาง (ค่าเฉลี่ย = 2.95, 2.93) ซึ่งน้อยกว่าแรงจูงใจในด้านอื่น ๆ ได้แก่ ด้านสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ด้านการยอมรับนับถือและด้านสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ค่าเฉลี่ย = 3.90, 3.62, 3.59) โดยทางหน่วยงานอาจมอบปริมาณงานให้เจ้าหน้าที่แต่ละตำแหน่งควรมีความสอดคล้องกับอัตราเงินเดือน ทำความเข้าใจในช่วงวัยของบุคลากรเพื่อนำไปปรับใช้ในการทำงานกับคนแต่ละช่วงอายุ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพดีขึ้น นอกจากนี้ควรมีการจัดให้มีสวัสดิการและโอกาสในความก้าวหน้า ในกลุ่มบุคลากรที่ไม่ได้บรรจุตำแหน่งข้าราชการนอกเหนือจากการให้ค่าตอบแทนเพียงอย่างเดียว เพื่อให้บุคลากรรู้สึกว่าหน่วยงานให้ความสำคัญกับบุคลากรอย่างจริงจัง เป็นปัจจัยค้ำจุนในการรักษาขวัญกำลังใจให้บุคลากรคงอยู่ต่อไป อันจะมีอิทธิพลกับพฤติกรรมการทำงานของบุคลากรเช่นเดียวกันกับด้านสัมพันธภาพระหว่างบุคคล ด้านการยอมรับนับถือและด้านสภาพแวดล้อมในการทำงาน
|