ผลของโปรแกรมการฝึกโยคะที่มีต่อสมรรคภาพทางกายด้านความอ่อนตัว การทรงตัวและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาของสตรีช่วงเตรียมวัยทอง

Titleผลของโปรแกรมการฝึกโยคะที่มีต่อสมรรคภาพทางกายด้านความอ่อนตัว การทรงตัวและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาของสตรีช่วงเตรียมวัยทอง
Publication Typeงานวิจัย/Research report
Year of Publication2555
Authorsอรัญญา บุทธิจักร์
Institutionคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberRG186 อ388
Keywordsการทรงตัว, การออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุ, ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ, ผู้หญิงวัยทอง--สุขภาพและอนามัย, โยคะ (กายบริหาร)--การฝึก
Abstract

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบผลของโปรแกรมการฝึกโยคะที่มีต่อความอ่อนตัว การทรงตัวและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาของสตรีช่วงเตรียมวัยทอง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ผู้หญิงช่วงเตรียมวัยทอง อายุระหว่าง 30-45 ปี จำนวน 24 คน เป็นบุคลากรอยู่ในสังกัดหน่วยงานต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทำการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง แบบเจาะจง (Purposive Selection) โดยนำผลคะแนนการทดสอบสมรรถภาพทางกายภาพด้านความอ่อนตัว การทรงตัวและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขามาเป็นเกณฑ์ในการแบ่งกลุ่ม เพื่อให้กลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่ม มีค่าคะแนนที่ใกล้เคียงกัน โดยใช้วิธีจัดเรียงคะแนนแบบ Match Group Method การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) ด้วยวิธีการจับสลาก โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทดลอง (ฝึกด้วยโปรแกรมการฝึกโยคะ) จำนวน 12 คน และกลุ่มควบคุม (ไม่ได้รับการฝึกโดยดำเนินกิจกรรมตามปกติ) จำนวน 12 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ โปรแกรมการฝึกโยคะ จำนวน 8 แผน เครื่องมือวัดได้แก่ แบบทดสอบความอ่อนตัว (Sit and Reach Test) แบบทดสอบการยืนทรงตัว (Stork Stand Test) แบบทดสอบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา (Leg Strength Test) ทำการทดลองเป็นเวลา 8 สัปดาห์ มีการทดสอบก่อนการทดลองกับหลังการทดลองสัปดาห์ที่ 4 และหลังการทดลองสัปดาห์ที่ 8 วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบความแตกต่างของคะแนนค่าเฉลี่ยด้วยการทดสอบด้วยค่าเอฟ (F-test) โดยวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบทางเดียวชนิดวัดซ้ำ (One Way ANOVA with Repeated Measures) เมื่อพบความแตกต่างจึงใข้การทดสอบความแตกต่างเป็นรายคู่ด้วยวิธีของแอล เอส ดี ทดสอบความมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
ผลการวิจัยพบว่า
1.ค่าเฉลี่ยของคะแนนการทดสอบด้านความอ่อนตัวของกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม ก่อนการทดลอง หลังการทดลองสัปดาห์ที่ 4 และหลังการทดลองสัปดาห์ที่ 8 ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
2.ค่าเฉลี่ยของคะแนนการทดสอบการทรงตัวของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมระหว่างก่อนการทดลองและหลังการทดลองสัปดาห์ที่ 4 ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แต่หลังการทดลองสัปดาห์ที่ 8 ผลการทดสอบด้านการทรงตัวของกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3.ค่าเฉลี่ยของคะแนนการทดสอบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมก่อนการทดลอง หลังการทดลองสัปดาห์ที่ 4 และหลังการทดลองสัปดาห์ที่ 8 ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4.ผลการทดสอบค่าความแปรปรวน พบว่า ค่าเฉลี่ยของคะแนนการทดสอบความอ่อนตัวของกลุ่มทดลอง ก่อนการทดลอง หลังการทดลองสัปดาห์ที่ 4 และหลังการทดลองสัปดาห์ที่ 8 มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ค่าเฉลี่ยของคะแนนการทรงตัวของกลุ่มทดลอง พบว่า ก่อนการทดลอง หลังการทดลองสัปดาห์ที่ 4 และหลังการทดลองสัปดาห์ที่ 8 ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ค่าเฉลี่ยของคะแนนความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา ของกลุ่มทดลองพบว่า ก่อนการทดลอง หลังการทดลองสัปดาห์ที่ 4 และหลังการทดลองสัปดาห์ที่ 8 ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

Title Alternate Effect of yoga training program on physical fitness: flexibility, balance, and muscular leg strength of the female during pre menopause