การพัฒนากรอบแนวคิดในการออกแบบเครื่องเรือนตามความต้องการของผู้สูงอายุในชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือในประเทศไทย :กรณีศึกษา บ้านโนนม่วง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

Titleการพัฒนากรอบแนวคิดในการออกแบบเครื่องเรือนตามความต้องการของผู้สูงอายุในชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือในประเทศไทย :กรณีศึกษา บ้านโนนม่วง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2556
Authorsสุรกานต์ รวยสูงเนิน
Degreeปรัชญาดุษฎีบัณทิต -- สาขาวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์
Institutionคณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberNK ส845ก 2556
Keywordsการออกแบบผลิตภัณฑ์--ขอนแก่น, การออกแบบเครื่องเรือน, การออกแบบเครื่องเรือน--ขอนแก่น, ผู้สูงอายุ, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคอีสาน
Abstract

การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนากรอบแนวคิดในการออกแบบเครื่องเรือนตามความต้องการของผู้สูงอายุในชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือในประเทศไทย ผู้สุงอายุในชุมชนโนนม่วง ตำบลศิลา อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ที่ได้คัดเลือกเป็นกลุ่มเป้าหมายในการศึกษาครั้งนี้ ด้วยเหตุผลสำคัญคือ การเป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบทของชุมชนโนนม่วง ทำให้ผู้สูงอายุต้องมีการปรับวิถีชีวิตภายใต้บริบทสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสังคมที่เปลี่ยนแปลง ในขณะเดียวกัน ร่างกายมีความเสื่อมถอยตามอายุ ทำให้มีพฤติกรรมความต้องการใช้เครื่องเรือนที่เฉพาะเจาะจง นอกจากนี้ยังเป็นชุมชนที่มีผู้สูงอายุอยู่จำนวนมาก กระบวนการพัฒนากรอบแนวคิดประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การสำรวจสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสังคมวัฒนธรรมของชุมชน 2) การศึกษาความต้องการใช้เครื่องเรือนในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ 3) การพัฒนากรอบแนวคิดในการออกแบบเครื่องเรือนสำหรับผู้สูงอายุในชุมชนกึ่งเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 4) การทดสอบความเป็นไปได้ในการนำเครื่องเรือนที่พัฒนาตามกรอบแนวคิดไปใช้งาน
วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลตามกระบวนการศึกษาประกอบด้วย 1) การสำรวจชุมชนใช้การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม การสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการ 2) การศึกษาความต้องการใช้เครื่องเรือนในชีวิตประจำวัน ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกแบบมีฌครงสร้าง การเก็บข้อมูลขนาดสัดส่วนร่างกาย และการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วมเกี่ยวกับการใช้เครื่องเรือน 3) การพัฒนากรอบแนวคิด ใช้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึก การวัดขนาดสัดส่วนร่างกาย ร่วมกับการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง และ 4) การทดสอบการใช้งานเครื่องเรือนที่พัฒนาตามกรอบแนวคิดมี 3 วิธีการ คือ 1) การพัฒนาเครื่องเรือนต้นแบบตามกรอบแนวคิด 2) การสาธิตและทดลองใช้งานเครื่องเรือนในชุมชนเพื่อให้ผู้สูงอายุและผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมให้ข้อมูลสะท้อนกลับ และ 3) การทดลองใช้เครื่องเรือนจริงในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุจำนวน 5 ราย เป็นระยะเวลา 1 เดือน
ผลการศึกษาพบว่า กรอบแนวคิดในการพัฒนาเครื่องเรือนสำหรับผู้สูงอายุในชุมชนประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ด้าน ได้แก่ 1) องค์ประกอบด้านวัสดุ ซึ่งจะต้องพิจารณาจากสภาพแวดล้อมในชุมชนได้แก่ วัสดุและเทคโนโลยีพื้นฐาน ในแง่ของการหารายได้ ราคาถูก บำรุงรักษาง่าย ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาในด้านค่าใช้จ่ายของเครื่องเรือนที่ทำให้ผู้สูงอายุสามารถหามาใช้หรือผลิตเองได้ และความคุ้นเคยกับวัตถุดิบในท้องถิ่น ทำให้มีความสอดคล้องกับบริบทสังคมในชุมชน ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกแปลกแยกกับวิถีชีวิตแบบเดิมของผู้สูงอายุ 2) องค์ประกอบด้านการออกแบบแยกเป็นการออกแบบที่เหมาะสมตามขนาดร่างกายที่เปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุ การออกแบบเพื่อหลักความปลอดภัย การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล และการออกแบบเพื่อลดปัญหาข้อจำกัดด้านร่างกาย โดยองค์ประกอบด้านนี้จะช่วยเอื้อต่อการใช้งานและลดอันตรายจากอุบัติเหตุและ 3) องค์ประกอบด้านประโยชน์ใช้สอย เป็นการคำนึงถึงการออกแบบเครื่องเรือนในบริบทวัฒนธรรม เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานหลายลักษณะในชิ้นเดียวกันด้วยเหตุผลหลัก 3 ด้าน คือ ลดการเคลื่อนไหว ประหยัดพื้นที่ใช้สอยในบ้าน และส่งเสริมสภาพจิตใจและอารมณ์ที่ดี
การออกแบบเครื่องเรือนตามแนวคิดดังกล่าวและนำไปทดลองใช้โดยผู้สูงอายุที่คัดเลือกตามเกณฑ์ จำนวน 5 ราย พบว่า เครื่องเรือนที่พัฒนาสามารถตอบสนองประโยชน์ใช้สอยตามที่ผู้สูงอายุต้องการ และช่วยแก้ปัญหาอันเกิดจากข้อจำกัดทางด้านร่างกายของผู้สูงอายุได้ แต่อย่างไรก็ตามยังมีจุดอ่อนของเครื่องเรือนที่ออกแบบตามแนวคิดดังกล่าวที่ต้องปรับปรุงเล็กน้อยเช่นความแข็งแรงของข้อต่อ และขนาดของเรือน ผลงานดังกล่าวนับเป็นผลิตภัณฑ์ออกแบบนวัตกรรมที่ผู้วิจัยนำไปจดสิทธิบัตร และวางแผนขยายผลการใช้งานสู่ผู้สูงอายุกลุ่มอื่น ๆ ต่อไป