การเมืองของชาวบ้านอีสานในเวทีการพัฒนาชนบท

Titleการเมืองของชาวบ้านอีสานในเวทีการพัฒนาชนบท
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2556
Authorsสังคม ศรีมหันต์
Degreeศิลปศาสตรมหาบัณฑิต -- สาขาวิชาวิชาสังคมศาสตร์และการพัฒนา
Institutionคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberJQ ส532ก 2556
Keywordsการพัฒนาชนบท, การเมือง--การมีส่วนร่วมของประชาชน, การเมืองของชาวบ้านอีสาน, ชาวอีสาน, ประชาชน--กิจกรรมทางการเมือง
Abstract

การศึกษาเรื่อง การเมืองของชาวบ้านอีสานในเวทีการพัฒนาชนบท เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์สามประการคือ หนึ่ง ศึกษาการปฏิบัติการทางการเมืองในชีวิตประจำวันของชาวบ้านอีสานที่มีความสัมพันธ์กับบริบททางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สอง ศึกษาพลวัตของการปฏิบัติการทางการเมืองของชาวบ้านอีสาน และสาม ศึกษาผลกระทบจากการปฏิบัติการทางการเมืองของชาวบ้านอีสานที่ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนทางโครงสร้างสังคม การศึกษานี้ประยุกต์ใช้แนวคิดผู้กระทำการที่มีจุดหมาย (Actor-oriented Approach) ของ Norman Long และแนวคิดการเมืองในชีวิตประจำวัน (Everyday Politics) ของ Benedict J.Tria Kerkvliet ในการวิเคราะห์ข้อมูล การศึกษามีข้อค้นพบที่สำคัญ 3 ประการดังนี้
ประการแรก การพัฒนาชนบทในฐานะเวทีทางการเมืองของชาวบ้าน การพัฒนาชนบทได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหมู่บ้านเป็นลำดับ จากยุคของการบุกเบิกบ้านดงหลวงมีวิถีแบบยังชีพ ซึ่งแรงผลักให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดมาจากปัจจัยภายใน แต่หลังจากปี พ.ศ.2500 รัฐกับตลาดได้เข้ามามีอิทธิพลในหมู่บ้านในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ การจัดตั้งระบบการปกครอง การสร้างปัจจัยพื้นฐานภาคการเกษตร และการพัฒนาทางเลือก สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นโครงสร้างที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านตระหนักถึงความเป็นอยู่ของชีวิตในรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมกันนี้ การพัฒนายังนำมาซึ่งทรัพยากรและโอกาสใหม่ ๆ ทางสังคม แต่ภายใต้ความสัมพันธ์ทางอำนาจทำให้ผู้ได้เปรียบและมีผู้เสียเปรียบ เกิดเป็นกลุ่มก้อนทางสังคมในลักษณะต่าง ๆ ตามจังหวะและเวลาแตกต่างไป ดังนั้น การพัฒนาชนบทจึงเป็นเวทีทางการเมืองที่ชาวบ้านต่างเข้ามามีปฏิบัติการทางการเมืองเพื่อให้กลุ่มของตนได้รับประโยชน์
ประการต่อมา การเมืองในชีวิตประจำวันชาวบ้าน ภายใต้เวทีการพัฒนา ชาวบ้านมีปฏิบัติการทางการเมืองอย่างกระตือรือร้น สะท้อนว่าชาวบ้านไม่ได้อยู่อย่างนิ่งเฉยยอมจำนน แต่เป็นผู้กระทำการที่มีจุดหมาย (Actor-oriented Approach) โดยลุกขึ้นมาต่อสู้ปรับเปลี่ยนสถานการณ์ให้ตนได้ประโยชน์ การวิจัยพบว่าชาวบ้านมีปฏิบัติการทางการเมืองในชีวิตประจำวัน (Everyday Politics) ซึ่งแวดงออกอย่างผสมผสานใน 4 รูปแบบ ได้แก่ การสนับสนึน (Support) การยินยอม (Compliance) การเปลี่ยนแปลง (Modification) หรือการหลีกหนีหลีกเลี่ยง (Evasion) และการต่อต้าน (Resistance) นอกจากนี้ชาวบ้านยังใช้การเมืองแบบรวมกลุ่ม (Advocacy Politics) และการแสดงออกทางการเมืองเชิงสถาบัน (Official Politics) ประกอบกันในชีวิตประจำวันด้วย ซึ่งการต่อสู้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งนั้นมักเกิดขึ้นจากการทดลอง ค้นคิด หรือปรับเปลี่ยน ไปตามสถานการณ์ ศักยภาพของคู่ขัดแย้งและบริบทของสนามเป็นสำคัญ ทำให้ปฏิบัตการทางการเมืองของชาวบ้านมีความซับซ้อนของความหมายและมีความหลากหลายของรูปแบบวิธีการ
ประการสุดท้าย การปรับเปลี่ยนโครงสร้างสังคม การปฏิบัติการทางการเมืองในรูปแบบต่าง ๆ ของชาวบ้าน ได้แก่ การเมืองในชีวิตประจำวัน (Everyday Politics) การเมืองแบบรวมกลุ่ม (Advocacy Politics) และการเมืองเชิงสถาบัน (Official Politics) ได้ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างสังคมหมู่บ้าน โดยพบว่าการปรับเปลี่ยนโครงสร้างสังคมนั้น เห็นได้จากประกฎการณ์ที่เกิดขึ้น 3 ประการ คือ ประการหนึ่งทำให้เกิดการจัดการป่าชุมชน โดยภาครัฐและสถาบันกษัตริย์ที่มีลักษณะนโยบายเชิงอนุรักษ์ทำให้ชาวบ้านนำมาใช้เป็นเครื่องมือแก้ไขปัญกาการตัดต้นไม้ในที่สาธารณะจนสามารถนำมาสู่การตั้งป่าชุมชนได้สำเร็จ ประการที่สอง ทำให้เกิดการแก้ไขทบทวนกติกาป่าชุมชนใหม่ต่อมามีข้อโต้แย้งเรื่องที่ดินป่าชุมชน ทำให้เกิดกลุ่มชาวบ้านสองฝ่าย การต่อสู้นำไปสู่การพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมายแล้วกำหนดพื้นที่ป่าชุมชนใหม่ ประการที่สามทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้นำการพัฒนาตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านหมดวาระระหว่างความขัดแย้งที่ดินป่าชุมชน ชาวบ้ายทั้งสองฝ่ายต่างส่งผู้แทนลงแข่งขันเพื่อช่วงชิงอำนาจนำผลการเลือกตั้งจึงสะท้อนความหวังต่อการพัฒนาจากจุดยืนของกลุ่มตน
การศึกษานี้ช่วยให้ตระหนักถึงศักยภาพของชาวบ้านอีสารเป็นผู้กระทำการที่กระตือรือร้น (Active Agent) หาใช้บทบาทผู้เฉื่อยชาและถูกครอบงำ ซึ่งแตกต่างจากข้อสรุปทั่วไปเกี่ยวกับการศึกษาชาวบ้านอีสานที่ผ่าน ๆ มา และการศึกษานี้ช่วยเติมเต็มมุมมองการศึกษาบทบาททางการเมืองของชาวชนบทว่าควรมองผ่านปฏิบัติการทางการเมืองทั้ง 3 แนวทาง ได้แก่ การเมืองในชีวิติประจำวัน (Everyday Politics) การเมืองของการต่อสู้รณรงค์แบบรวมกลุ่ม (Advocacy Politics) และการเมืองเชิงสถาบัน (Official Politics) โดยใช้อย่างบูรณาการจึงจะเข้าใจความซับซ้อนของบทบาททางการเมืองของชาวอีสาน

Title Alternate Politics of Isan Villagers in the rural development arena.