การพัฒนาตำรับมาส์กหน้าแบบลอกออกที่ผสมสารสกัดบัวบกเพื่อการฟื้นฟูสภาพผิว

Titleการพัฒนาตำรับมาส์กหน้าแบบลอกออกที่ผสมสารสกัดบัวบกเพื่อการฟื้นฟูสภาพผิว
Publication Typeงานวิจัย/Research report
Year of Publication2559
Authorsวริษฎา ศิลาอ่อน, อุษณา พัวเพิ่มพูลศิริ
Institutionคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberRL87 ว329ก 2559
Keywordsบัวบก -- เภสัชฤทธิวิทยา, ผลิตภัณฑ์สมุนไพร, มาส์กหน้า, เครื่องสำอางสมุนไพร, เวชสำอาง, ใบหน้า -- การดูแลและสุขวิทยา
Abstract

การมาส์กหน้าเป็นวิธีการฟื้นฟูสุขภาพผิวที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์มาส์กหน้าแบบลอกออกเป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายเนื่องจากใช้ง่ายและสามารถขจัดเซลล์ที่ตายแล้วออก การนำสารสกัดจากสมุนไพรผสมลงในตำรบมาส์กหน้าแบบลอกออกที่ประกอบด้วยพอลิเมอร์จากธรรมชาติและพอลิเมอร์สังเคราะห์ นับเป็นการส่งเสริมการใช้และเพิ่มมูลค่าของสมุนไพรในด้านเครื่องสำอางมากขึ้น ซึ่งบัวบกเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนให้ใช้ในโรงพยาบาลและการแพทย์แผนไทยเนื่องจากเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพมากมาย จึงใช้ทั้งในด้านการแพทย์และความงาม ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตำรับมาส์กหน้าแบบลอกออกที่ผสมสารสกัดหยาบบัวบกให้มีคุณสมบัติทางกายภาพ เคมีและเชิงกลที่เหมาะสม โดยศึกษาปริมาณสาระสำคัญ ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน ความเป็นพิษต่อเซลล์ และฤทธิ์กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนของสารสกัดหยาบบัวบก จากแหล่งเพาะปลูกอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ผลการทดลองพบว่า มีปริมาณเอเซียติโคไซด์ มาเดแคสโซโซด์ และกรดเอเชียติก เท่ากับ 34.37, 4.17 และ 2.98 มิลลิกรัมต่อกรัมของสารสกัดหยาบบัวบกตามลำดับ ไม่พบฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียชนิด P.acnes ได้ โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ P.acnes เท่ากับ 700 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร สารสกัดหยาบบัวบกมีปริมาณสารประกอบฟีนอลิกรวม 20.52±0.57 มิลลิกรัมสมมูลของกรด แกลลิกต่อสารสกัด 1 กรัม ฤทธิ์ต้านออกซิเดชันเมื่อทดสอบโดยวิธี DPPH, ABTS และ FRAP มีค่า 42.14±1.53 มิลลิกรัมสมมูลของ Trolox ต่อสารสกัด 1 กรัม, 12.81±0.91 มิลลิกรัมสมมูลของวิตามันซีต่อสารสกัด 1 กรัม และ 0.65±0.04 โมลของเฟอร์รัสซัลเฟตต่อสารสกัด 1 กรัม ตามลำดับ ตำรับมาส์กหน้าแบบลอกออกประกอบด้วยไคโตซาน ร้อยละ 2 EDTA ร้อยละ 1 PVA ร้อยละ 1.42 PVMMA ร้อยละ 0.05 กลีเซอริน ร้อยละ 2.74 แอลกอฮอล์ ร้อยละ 10 และสารสกัดบัวบก ร้อยละ 5 โดยน้ำหนัก มีคุณสมบัติทางกายภาพเหมาะสม คือ มีค่าความเป็นกรดด่าง 4.97±0.06 ระยะเวลาในการแห้งของแผ่นฟิล์ม 19.33±1.15 นาที และค่าความหนืด 894.57±149.88 เซนติพอยส์ มีคุณสมบัติเชิงกลที่ดี คือ มีความทนแรงดึง 0.57±0.06 นิวตันต่อตารางมิลลิเมตร ร้อยละการยืดของชิ้นทดสอบที่จุดขาด 166.77±0.00 และแรงที่ใช้ในการลอกออกของแผ่นฟิล์ม 0.002±0.0005 นิวตันต่อตารางมิลลิเมตร ที่เวลา 30 นาที และ 24 ชั่วโมง สามารถปลดปล่อยเอเชียติโคไซด์ได้ร้อยละ 24.61±0.56 และ 107.13±10.70 ตามลำดับ เมื่อทดสอบในหลอดทดลองที่อุณหภูมิ 35±2 องศาเซลเซียส สารสกัดหยาบบัวบกไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ มีแต่ฤทธิ์กระตุ้นการสร้างสารคอลลาเจน เมื่อทดสอบความคงสภาพในสภาวะเร่งพบว่า สภาวะการเก็บที่อุณหภูมิสูงและระยะเวลานาน มีผลต่อคุณสมบัติทางกายภาพและเชิงกลของตำรับ แต่ปริมาณเอเชียติโคไซด์และมาเดแคสโซไซด์ในตำรับลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับที่เวลาเริ่มต้น และควรเก็บตำรับที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ดังนั้น ตำรับมาส์กหน้าแบบลอกออกจากไคโตซานและพอลิแอลกอฮอล์ที่ผสมสารสกัดหยาบบัวบก มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน ฤทธิ์กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนและระคายเคืองผิวหนังน้อยมากเมื่อทดสอบในกระต่าย

Title Alternate Development of facial peel off mask containing Centella asiatica (L.) Urban for skin rejuvenation