กุ้งก้ามกรามในการประมงแบบปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติ : แนวทางในการเพิ่มอัตรารอดตายและบทบาทในระบบนิเวศ

Titleกุ้งก้ามกรามในการประมงแบบปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติ : แนวทางในการเพิ่มอัตรารอดตายและบทบาทในระบบนิเวศ
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2560
Authorsวชิระ กว้างขวาง
Degreeปรัชญาดุษฎีบัณฑิต -- สาขาเกษตรศาสตร์
Institutionคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberSH ว145ก 2560
Keywordsการประมงแบบปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติ, การเลี้ยงกุ้งก้ามกราม, กุ้งก้ามกราม -- การเลี้ยง
Abstract

การประมงแบบปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติ (Culture-based fisheries: CBF) หรือบ่อประมงหมู่บ้านเป็นโครงการที่ใช้ต้นทุนต่ำ และมีวิธีการดำเนินการไม่ซับซ้อนเหมือนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วไป ปลาที่ปล่อยในบ่อประมงหมู่บ้านจะเป็นชนิดพันธุ์ปลาที่สามารถเพาะพันธุ์ได้ในฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาทั่วไป และเป็นปลาที่มีอัตราการเจริญเติบโตเร็ว ซึ่งนอกจากการปล่อยปลาในบ่อประมงหมู่บ้านแล้วยังมีการปล่อยกุ้งก้ามกราม (Macrobrachium rosenbergii) ซึ่งเป็นชนิดสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาวิธีการเพิ่มอัตรารอดตายของกุ้งก้ามกรามที่ปล่อยร่วมกับสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ (ปลาสร้อยขาวและปลานิล) และเพื่อศึกษาโครงข่ายอาหาร และผลกระทบต่อระบบนิเวศของการปล่อยกุ้งก้ามกรามในบ่อประมงหมู่บ้านที่มีความหลากหลายของปลากินเนื้อชนิดพื้นเมืองแตกต่างกัน โดยกุ้งก้ามกรามที่ใช้ปล่อยในการศึกษาครั้งนี้เป็นกุ้งก้ามกรามที่มีอายุหลังระยะ post larvae 20 วัน (PL20) เพราะมีอัตรารอดสูงสุด และมีต้นทุนต่ำสุด
การหาวิธีการเพิ่มอัตรารอดตายของกุ้งก้ามกรามที่ปล่อยร่วมกับสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ ทำการศึกษาในบ่อทดลองที่มีความกว้างxยาวxสูง เท่ากับ 2.0x10.0x0.8 เมตร โดยการศึกษาอิทธิพลของ 3 ปัจจัย คือ ปัจจัยที่ 1 รูปแบบการปล่อย ปล่อยกุ้งก้ามกรามชนิดเดียว ปล่อยกุ้งก้ามกรามร่วมกับปลาสร้อยขาว และปล่อยกุ้งก้ามกรามร่วมกับปลานิล ปัจจัยที่ 2 รูปแบบที่หลบซ่อน ไม่มีที่หลบซ่อนและมีที่หลบซ่อน ปัจจัยที่ 3 รูปแบบผู้ล่า ไม่มีผู้ล่าและมีผู้ล่า (ปลากระสูบขีด) ที่หน่วยวิจัยและพัฒนาทรัพยากรประมงร่วมกับปลาสร้อยขาว และปลานิล ทำให้ลูกกุ้งก้ามกรามมีอัตรารอดตายสูงกว่าการปล่อยลูกกุ้งก้ามกรามเพียงชนิดเดียว การมีที่หลบซ่อนมีผลดีต่ออัตรารอดตายของลูกกุ้งก้ามกรามมากกว่าการไม่มีที่หลบซ่อน และการไม่มีผู้ล่าทำให้ลูกกุ้งก้ามกรามมีอัตรารอดตายมากกว่าการมีผู้ล่า โดยผู้ล่าจะเลือกกินปลาสร้อยขาวก่อนลูกกุ้งก้ามกรามและปลานิล เนื่องจากลูกกุ้งก้ามกรามและปลานิลมีอวัยวะที่ใช้ป้องกันตัวจากผู้ล่า ได้แก่ กรีและก้านครีบแข็งที่ครีบหลังตามลำดับ และพบว่าทั้งลูกกุ้งก้ามกรามและปลาสร้อยขาวมีพฤติกรรมในการหลบซ่อนผู้ล่า แต่ปลานิลไม่มีพฤติกรรมดังกล่าว
ส่วนการศึกษาโครงข่ายอาหาร และผลกระทบต่อระบบนิเวศของการปล่อยกุ้งก้ามกรามในบ่อประมงหมู่บ้าน โดยใช้แบบจำลองอีโคพาธทำการศึกษาจากข้อมูลผลจับ (ปีละ 1 ครั้ง) ของบ่อประมงหมู่บ้านที่มีการปล่อยกุ้งก้ามกรามจำนวน 2 บ่อ ที่อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี และให้ความสำคัญในการตรวจสอบบทบาททางนิเวศวิทยาของกุ้งก้ามกรามที่ปล่อยในบ่อประมงหมู่บ้าน โดยการศึกษาพบว่า ค่าลำดับชั้นการบริโภค (Trophic Levels: TL) ของกลุ่มชนิดสัตว์น้ำที่ปล่อยอยู่ระหว่าง 2 ถึง 3 และกลุ่มชนิดสัตว์น้ำเหล่านั้นสามารถกินอาหารได้หลากหลาย (Omnivores) และพบว่าค่าประสิทธิภาพในการบริโภคในระบบนิเวศ (Ecotrophic Efficiency: EE) ของกลุ่มชนิดสัตว์น้ำในบ่อประมงหมู่บ้านที่มีจำนวนปลากินเนื้อมากจะมีค่าสูงกว่าบ่อประมงหมู่บ้านที่มีจำนวนปลากินเนื้อน้อย และกุ้งก้ามกรามมีค่า EE ค่อนข้างสูง เนื่องจากมีการกินกันเอง และพบว่าระบบนิเวศบ่อประมงหมู่บ้านมีรูปแบบห่วงโซ่อาหารแบบจับกิน (Grazing food chain) และกุ้งก้ามกรามสามารถพึ่งพาอาหารจากทั้งห่วงโซ่อาหารแบบจับกัน (Grazing food chain) และห่วงโซ่อาหารแบบกินเศษอินทรีย์ (Detritus food chain) ในระบบนิเวศได้ ทำให้ไม่มีการแข่งขันด้านอาหารกับกลุ่มชนิดสัตว์น้ำอื่น ๆ ในระบบนิเวศบ่อประมงหมู่บ้าน ผลกระทบของปริมาณสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง (เมื่อเพิ่มขึ้นร้อยละ 10) ที่มีผลต่อปริมาณของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นในระบบนิเวศ (mixed trophic impact) แสดงให้เห็นว่าหากมีการเพิ่มกลุ่มชนิดสัตว์น้ำที่มีค่า TL=1 จะมีผลดีต่อกลุ่มชนิดสัตว์น้ำอื่น ๆ ในลำดับชั้นการบริโภคที่สูงขึ้นไป ดังนั้นในอนาคตจึงควรพิจารณาใช้อีโคซิม (Ecosim) เพื่อศึกษาถึงผลกระทบของรูปแบบการจัดการที่แตกต่างกันของระบบนิเวศในบ่อประมงหมู่บ้านเพิ่มเติม

Title Alternate Giant freshwater prawn in culture-based fisheries : scheme to increase survival rate and functions in ecosystem