Title | ความเชื่อเรื่อง "พระศรีอาริย์" ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศกัมพูชานับแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14 จนถึงปัจจุบัน : การศึกษาจากหลักฐานประเภทจารึกและคัมภีร์ใบลาน |
Publication Type | งานวิจัย/Research report |
Year of Publication | 2556 |
Authors | ชาญชัย คงเพียรธรรม, ดาวเรือง วิทยารัฐ |
Institution | คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี |
City | อุบลราชธานี |
Call Number | BQ4690.M3 ช485ร 2556 |
Keywords | กบฎผู้มีบุญ, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ -- ไทย -- กัมพูชา, ความเชื่อ -- กัมพูชา, ความเชื่อ -- แง่ศาสนา -- พุทธศาสนา, ความเชื่อ -- ไทย, ความเชื่อ -- ไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), คัมภีร์ใบลานพระศรีอาริย์, จารึก, พระศรีอารย์, ศรัทธา (พุทธศาสนา) |
Abstract | งานวิจัยเรื่อง คติความเชื่อเรื่อง “พระศรีอาริย์” ในภาคตะวันออกฉียงเหนือและประเทศกัมพูชานับแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14 จนถึงปัจจุบัน: การศึกษาจากหลักฐานประเภทจารึกและคัมภีร์ใบลาน ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงานวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2555 วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้เพื่อศึกษาเปรียบเทียบคติความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์ที่ปรากฎในจารึกและคัมภีร์ใบลานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและประเทศกัมพูชาเพื่ออธิบายปรากฎการณ์กบฎผีบุญในภูมิภาคดังกล่าว ผลการศึกษาเป็นดังนี้
ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและประเทศกัมพูชาเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเขมรโบราณนามว่า “เจนละ” มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 สืบเนื่องมาจนถึงปลายสมัยเมืองพระนคร หรือประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 หลักฐานสำคัญคือมรดกร่วมทางวัฒนธรรมต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือ จารึกและคัมภีร์ใบลานที่เป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ สะท้อนสภาพสังคม ความคิดความเชื่อของคนในยุคนั้น
ความคิดความเชื่อที่สำคัญอย่างหนึ่งนั่นคือความเชื่อเรื่องพระศรีอาริยเมตรไตย ซึ่งปรากฏในจารึกเขมรมาตั้งแต่สมัยก่อนเมืองพระนครแล้ว การนับถือพระศรีอาริยเมตไตยในยุคก่อนเมืองพระนครและสมัยเมืองพระนครเนื่องด้วยศาสนาพุทธนิกายมหายาน ซึ่งมีการนับถือพระโพธิสัตว์องค์อื่น ๆ มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือพระนางปรัชญาปารมิตา ทำให้พบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับพระศรีอาริยเมตไตยไม่มากนัก ต่างจากจารึกสมัยหลังเมืองพระนครที่กล่าวถึงพระศรีอาริยเมตไตยและโลกในยุคของพระองค์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากในยุคนั้นศาสนาพุทธนิกายเถรวาทได้กลายเป็นศาสนาสำคัญแล้ว
นอกจากนี้ยังมีคัมภีร์ใบลานที่กล่าวถึงพระศรีอาริยเมตไตยและโลกในยุคอุดมคติมากมาย คัมภีร์สำคัญได้แก่ อนาคตทศวงศ์ พระมาลัย และมหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์ฉลองมหาชาติ ซึ่งคัมภีร์มหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์ฉลองมหาชาติถือเป็นคัมภีร์สำคัญที่ทำให้ความคิดความเชื่อเรื่องพระศรีอาริยเมตไตยหยั่งลึกลงในระบบความเชื่อของผู้คนในแถบนี้ เพราะผูกติดเข้ากับประเพณีเกี่ยวกับชีวิต กล่าวคือ ในภาคอีสานของประเทศไทยจะมีการสวดพระมาลัยในงานศพ ส่วนในราชอาณาจักรกัมพูชาจะมีการสวดพระมาลัยก่อนที่ทางวัดจะจัดให้มีการเทศน์มหาชาติหนึ่งวัน ซึ่งเนื้อหาสำคัญของคัมภีร์พระมาลัย คือ กล่าวถึงโลกยุคพระศรีอาริย์ และมูลเหตุที่จะทำให้ได้ไปบังเกิดในยุคนั้น นั่นคือ การฟังเทศน์มหาเวสสันดรชาดกให้จับในวันเดียว
ความเชื่อเรื่องพระศรีอาริยเมตไตยที่ปรากฏในคัมภีร์ทางศาสนาเป็นที่มาของวรรณกรรมที่เรียกว่า “ทำนาย” ซึ่งแพร่หลายอยู่ในอีสานใต้และราชอาณาจักรกัมพูชาในอีสานใตพบคัมภีร์พุทธทำนาย คัมภีร์นางเทวดา เป็นต้น ส่วนในราชอาณาจักรกัมพูชาพบคัมภีร์พุทธทำนาย อินททำนาย คัมภีร์มกุฎแก้ว คัมภีร์ปุถุชน เป็นต้น คัมภีร์เหล่านี้ได้ผ่านกระบวนการทำให้ศักดิ์สิทธิ์โดยอ้างว่าเป็นคำพยากรณ์ของพระพุทธเจ้าหรือพระอินทร์ เนื้อหาของคัมภีร์กล่าวถึงความวิปริตแปรปรวนของธรรมชาติและสังคม และการมาถึงของพระบาทธรรมิก ผู้ที่เชื่อว่าจะมาปราบยุคเข็ญและสรรค์สร้างสังคมใหม่ที่เต็มไปด้วยความสุขสมบูรณ์
คัมภีร์ดังกล่าวได้ส่งอิทธิพลทำให้เกิดความเคลื่อนไหวทางสังคมพอสมควรในยุคใดที่สังคมเกิดความอยุติธรรม ประชาชนถูกกดขี่ข่มเหงในยุคนั้นประชาชนจะรอคอยการมาถึงของพระบาทธรรมมิกทำให้ในหลายพื้นที่ได้ปรากฏผู้ที่ประกาศตนว่าเป็น “ผู้มีบุญ” ขึ้น ในส่วนของดินแดนอีสานใต้จองไทยนั้น กบฏผู้มีบุญมักจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาว ซึ่งมีความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์และคัมภีร์ประเภทคำทำนายแพร่หลายอยู่ในลักษณะเดียวกัน กบฏเหล่านี้ลุกขึ้นต่อต้านอำนาจของสยามในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มชาติพันธ์เขมรไม่ได้ลุกขึ้นมาก่อการนี้แต่อย่างใด
ขณะที่ในราชอาณาจักรกัมพูชา กบฏผู้บุญได้เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศชาติถูกชาวต่างชาติกดขี่ข่มเหง เช่น อาจารย์สวาและโปกำโบที่ลุกขึ้นต่อต้านฝรั่งเศสในรัชกาลพระบาทนโรดม เป็นต้น
แม้ว่าในปัจจุบันกบฏผีบุญจะถูกปราบปรามลงไปจนหมดสิ้นแล้ว หากแต่ความคติความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์ยังถูกหยิบมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเสมอมา เช่น ในสมัยกัมพูชาประชาธิปไตยที่เขมรแดงประกาศว่ายุคพระศรีอาริย์มาถึงแล้ว หรือการกล่าวว่าผู้นำทางการเมืองหรือผู้นำทางศาสนาคนสำคัญของกัมพูชาคือพระบาทธรรมิก
|
Title Alternate | The belief on "Maitreya" in Northeastern Thailand and Cambodia from circa 8th-9th century A.D. to present days: An epigraphical study |