ความเฉื่อยทางคลินิกในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในโรงพยาบาลชุมชน จังหวัดอุบลราชธานี

Titleความเฉื่อยทางคลินิกในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในโรงพยาบาลชุมชน จังหวัดอุบลราชธานี
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2561
Authorsลิขิต ผลดี
Degreeวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต -- สาขาวิชาการบริหารบริการสุขภาพ
Institutionคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberRC ล413 2561
Keywordsความเฉื่อยทางคลินิก, ผู้ป่วยโรคเบาหวาน, เบาหวาน -- การดูแลตนเอง, เบาหวาน -- การใช้ยา, โรคเบาหวานชนิดที่ 2
Abstract

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาระยะเวลาที่ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่รักษาด้วยยารักษา เบาหวานชนิดรับประทาน แล้วเกิดความเฉื่อยทางคลินิก โดยเทียบกับแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน หาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดความเฉื่อยทางคลินิก และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ กับการได้รับการรักษาเพิ่มเป็นการศึกษาแบบ retrospective cohort study โดยใช้ข้อมูลเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 รายใหม่ที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลชุมชน จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 16 แห่ง ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2551 ถึง 31 ธันวาคม 2558 โดยใช้ข้อมูลหลัก คือ ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารกับชนิดของยาที่ผู้ป่วยได้รับในวันที่มารับบริการ เพื่อหาผู้ป่วยที่เกิดความเฉื่อยทางคลินิกซึ่งหมายถึง ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา เพิ่มขึ้นจากการรักษาเดิม เมื่อผลการรักษาที่ได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายในการรักษาตามแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวานปี พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2554 และ พ.ศ. 2557 วิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดความเฉื่อยทางคลินิกโดยใช้สถิติ การวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติค (logistic regression analysis) วิเคราะห์ ระยะเวลาที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาเพิ่มขึ้นจากการรักษาเดิม หลังเกิดความเฉื่อยทางคลินิกด้วยค่า มัธยฐานระยะปลอดเหตุการณ์ (median survival time) และวิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับอัตราการได้รับการรักษาเพิ่ม เมื่อเกิดความเฉื่อยทางคลินิก โดยใช้สถิติ Cox proportional hazard model
ผลการวิจัยมีผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกจำนวน 15,433 ราย ผู้ป่วยเกิดภาวะความเฉื่อยทางคลินิก 5,410 ราย (ร้อยละ 35.05) ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2551 - 31 ธันวาคม 2553 (ช่วงที่ 1) ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2554 - 31 ธันวาคม 2556 (ช่วงที่ 2) และระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2557 - 31 ธันวาคม 2558 (ช่วงที่ 3) มีระยะเวลาตั้งแต่ เริ่มรักษาจนเกิดความเฉื่อยทางคลินิกครั้งแรกเฉลี่ย 377.7 ± 5.46 วัน 348.75 ± 3.39 วัน และ 316.75 ± 3.62 วัน ตามลำดับโดยมีผู้ป่วยเกิดความเฉื่อยทางคลินิกอย่างน้อย 1 ครั้ง ร้อยละ 19.35 ร้อยละ 32.61 และร้อยละ 42.73 ตามลำดับ
ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดความเฉื่อยทางคลินิก ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีอายุระหว่าง 47 - 54 ปี (OR = 0.84; 95%CI = 0.67 – 1.05) ผู้ป่วยที่มีอายุระหว่าง 55 - 62 ปี (OR = 0.75; 95%CI = 0.60 – 0.94) และผู้ป่วยที่มีอายุ 63 ปีขึ้นไป (OR = 0.67; 95%CI = 0.54 – 0.83) ผู้ป่วยเบาหวาน เพศหญิง (OR = 0.84; 95%CI = 0.73 - 0.98) ผู้ป่วยที่มีโรคร่วมความดันโลหิตสูง (OR = 0.85; 95%CI = 0.59 - 0.81) ผู้ป่วยเข้าที่เข้ารับการรักษากับโรงพยาบาล 3 (OR = 0.14; 95%CI = 0.04 - 0.50) ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษากับโรงพยาบาล 9 (OR = 0.52; 95%CI = 0.35 - 0.79)
มัธยฐานระยะเวลาที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาเพิ่มหลังเกิดความเฉื่อยทางคลินิกของผู้ป่วยเข้ารับการ รักษาช่วงที่ 1 เท่ากับ 1.93 เดือน เพิ่มเป็น 2.33 และ 2.10 เดือน ช่วงที่ 2 และ 3 ตามลำดับ โดย ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการได้รับการรักษาเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ ผู้ป่วยที่รักษากับแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว (HRadj = 3.24; 95% CI, 1.94 - 5.41) ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษากับโรงพยาบาล 9 (HRadj = 0.31; 95% CI, 0.21 - 0.46) ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษากับโรงพยาบาล 13 (HRadj = 0.64; 95% CI, 0.43 - 0.94)
สรุปผลการวิจัยผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชน 16 แห่งในจังหวัดอุบลราชธานีส่วนหนึ่งเกิดความเฉื่อยทางคลินิก โดยมีกลุ่มอายุ เพศหญิง โรคร่วมความดันโลหิตสูง และสถานที่รับบริการมีความสัมพันธ์กับความเฉื่อยทางคลินิก ระยะเวลาที่ผู้ป่วยได้รับการรักษา เพิ่มหลังเกิดความเฉื่อยทางคลินิกมีค่าเพิ่มขึ้น โดยสาขาความเชี่ยวชาญของแพทย์และสถานบริการมี ความสัมพันธ์กับการได้รับการการรักษาเพิ่ม นอกจากนี้มีผู้ป่วยร้อยละ 5.36 ที่ไม่ได้รับการรักษาเพิ่ม หลังเกิดความเฉื่อยทางคลินิกเมื่อสิ้นสุดการศึกษาซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อน ต่าง ๆ ตามมา

Title Alternate Clinical inertia in patients with type 2 diabetes in community hospital, Ubon Rachathani Province
Fulltext: