การพัฒนาอนุภาคไขมันขนาดนาโนที่กักเก็บลิกแนนจากน้ำมันงาเพื่อการนำส่งทางผิวหนัง

Titleการพัฒนาอนุภาคไขมันขนาดนาโนที่กักเก็บลิกแนนจากน้ำมันงาเพื่อการนำส่งทางผิวหนัง
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2561
Authorsวลัยพร เตียประสิทธิ์
Degreeวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต -- สาขาวิชาศาสตร์แห่งเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพ
Institutionคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberTP ว344 2561
Keywordsน้ำมันงา -- การใช้รักษา, ลิกแนน, อนุภาคนาโน -- แง่การแพทย์, อนุภาคไขมัน, เภสัชกรรมเทคโนโลยี
Abstract

สารกึ่งบริสุทธิ์ลิกแนนจากน้ำมันงา มีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ เซซามิน เซซาโมลิน และเซซามอล ซึ่งมีฤทธิ์ทางชีวภาพที่สำคัญ ได้แก่ ฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระฤทธิ์ต้าน การอักเสบฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส มีรายงานว่า เซซามิน และเซซามอลยังมีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์คอลลาจีเนสอีลาสเตส และไฮยาลูนิเดสซึ่งเป็นสาเหตุของริ้วรอยบนผิวหนังอย่างไรก็ตาม ค่าการ ละลายในสารละลายที่ต่ำของสารลิกแนนจึงเป็อุปสรรคของการนำส่งสารทางผิวหนัง ดังนั้น การกักเก็บสารกึ่งบริสุทธิ์ลิกแนนในอนุภาคไขมันขนาดนาโนอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการนำส่งสารเข้าสู่ผิวหนังให้ดียิ่งขึ้น การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของสารกึ่งบริสุทธิ์ลิกแนนจากน้ำมันงาและพัฒนาอนุภาคไขมันขนาดนาโนซึ่งกักเก็บสารกึ่งบริสุทธิ์ลิกแนนจากน้ำมันงา เพื่อการนำส่งทางผิวหนัง เตรียมอนุภาคไขมันขนาดนาโนเมตรด้วยวิธีการเตรียมอิมัลชัน แบบใช้ความร้อน และลดขนาดอนุภาคด้วยเครื่องโฮโมจีไนซ์และเครื่องโซนิเคทแบบโพรบ ศึกษา ปัจจัยของกระบวนการและส่วนประกอบในตำรับของการเตรียม อนุภาคไขมันแข็งขนาดนาโนเมตร (Solid lipid nanoparticles, SLN) นาโนสตรัคเจอร์ลิปิดแคริเออร์ (Nanostructure lipid carrieres, NLC) และ นาโนอิมัลชัน (Nanoemulsion, NE) วัดขนาดอนุภาคและค่าการกระจายอนุภาค (PDI) ด้วยอาศัยหลักการกระเจิงของแสงเลเซอร์ ผลการศึกษาพบว่าสารกึ่งบริสุทธิ์ลิกแนนแสดงฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH• และ ABTS•+ ได้ดีกว่าน้ำมันงาในขณะที่ไม่พบฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ คอลลาจีเนสและอีลาสเตสที่ความเข้มข้นที่มากกว่า 400 ไมโครกรัม /มิลลิลิตร อนุภาคไขมันขนาดนาโนในทุกรูปแบบมีขนาดอยู่ในช่วง 175.13-215.40 นาโนเมตร และมีร้อยละในการกักเก็บสารเซซามินและเซซาโมลินในช่วง 93.00-98.37 และ 95.94-98.92 ตามลำดับ การศึกษาการปลดปล่อย สารเซซามิน และเซซาโมลินด้วยเทคนิคไดอะไลซิส พบว่า ตำรับ SLN, NLC และ NE สามารถ ปลดปล่อยสารได้มากกว่าสารละลายลิกแนนในน้ำมันงา อนุภาค SLN ปลดปล่อยสารได้เร็วกว่า NLC และ NE ในขณะที่อนุภาค NLC และ NE มีรูปแบบการปลดปล่อยสารที่ใกล้เคียงกัน การศึกษาการ ซึมผ่านชั้นผิวหนังของสารเซซามิน และเซซาโมลินด้วยเทคนิค Franz diffusion cell พบว่า อัตราการแพร่ผ่าน(steady state flux) ของสารเซซามินจากสารละลายสารกึ่งบริสุทธิ์ลิกแนนในน้ำมันงา อนุภาค SLN, NLC และ NE คือ 0.23, 0.26. 0.35 และ 0.31 ไมโครกรัมต่อตารางเซนติเมตรต่อชั่วโมง ตามลำดับในขณะที่อัตราการแพร่ผ่านสารเซซาโมลินของสารละลาย สารกึ่งบริสุทธิ์ลิกแนนในน้ำมันงา ตำรับอนุภาค SLN, NLC และ NE คือ 0.12, 0.27, 0.33 และ 0.31 ไมโครกรัมต่อตาราง เซนติเมตรต่อชั่วโมง คุณลักษณะทางกายภาพของ SLN, NLC และ NE ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมี นัยสำคัญทางสถิติเมื่อเก็บภายใต้สภาวะควบคุมที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ ร้อยละ 75 เป็นเวลา 3 เดือน ดังนั้นอนุภาคไขมันขนาดนาโนที่กักเก็บสารกึ่งบริสุทธิ์ลิกแนนจากน้ำมันงาช่วย เพิ่มการซึมผ่านทางรูขุมขน และมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหนังต่อไป

Title Alternate Development of lipid nanoparticles containing lignans extract from sesame oil for skin delivery