Abstract | อุบลราชธานี คือ ชื่อของจังหวัดสำคัญที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย นอกจากจะเป็นจังหวัดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางความเจริญอีกแห่งหนึ่งของภูมิภาค มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นที่น่าพอใจแล้ว อุบลราชธานียังเป็นดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านอารยธรรมมาเนิ่นนานกว่าหลายพันปีอีกด้วย
สายธารแห่งอารยธรรมตั้งต้นที่อารยธรรมโบราณในยุคก่อนประวัติศาสตร์ (วัฒนธรรมโฮบิเนี่ยน เมื่อประมาณ 14,000-6,000 ปีที่ผ่านมา) ในยุคนั้นมนุษย์อาศัยอยู่ตามถ้ำ ดำรงชีวิตด้วยการหาของป่า ล่าสัตว์ ต่อมาเมื่อประชากรมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทำให้มนุษย์ไม่สามารถพึ่งพาธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียวได้ จึงต้องเรียนรู้ที่จะเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ จนกลายเป็นสังคมเกษตรกรรม และเมื่อสังคมเริ่มขยายใหญ่ขึ้น มีโครงสร้างที่ซับซ้อนขึ้น จากชุมชนเล็ก ๆ จึงได้พัฒนากลายมาเป็นเมือง มีการปฏิสัมพันธ์กันภายในกลุ่มและนอกกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้ารวมทั้งวิทยาการต่าง ๆ ต่อมาในยุคประวัติศาสตร์ สายธารแห่งอารยธรรมจากภายนอกได้ไหลบ่าเข้ามาสู่ดินแดนแห่งนี้ และหลอมรวมจนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่ชาวอุบลราชธานีภาคภูมิใจ ไม่ว่าจะเป็นสายธารแห่งอารยธรรมเจนละ (ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13) อารยธรรมทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ 14-16) อารยธรรมเขมรสมัยเมืองพระนคร (ราวพุทธศตวรรษที่ 15-18) อารยธรรมล้านช้าง (ราวพุทธศควรรษที่ 19-23) และอารยธรรมจากสยาม (ราวพุทธศตวรรษที่ 24-25) ตามลำดับ
จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า อารยธรรมเขมรได้เข้ามามีอิทธิพลเหนือดินแดนแห่งนี้ 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงแรกเป็นอารยธรรมเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร และในช่วงที่ 2 เป็นอารยธรรมเขมรสมัยเมืองพระนคร ดังปรากฏหลักฐานสำคัญ คือ แหล่งโบราณสถานและโบราณวัตถุเป็นจำนวนมากที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ของอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี
ถึงแม้ว่าบริเวณชุมชนเมืองเก่าริมแม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี จะไม่พบแหล่งโบราณสถานที่แสดงถึงร่องรอยของอารยธรรมเขมรเลย เนื่องจากเป็นเมืองที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และได้รับอิทธิพลจากล้านช้างและสยาม หากแต่โบราณวัตถุอันล้ำค่าหลายชิ้นกลับได้รับการเก็บรักษาไว้ ณ บริเวณดังกล่าว คือที่วัดสุปัฏนารามวรวิหาร และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี
วัดสุปัฏนารามวรวิหาร เป็นวัดสำคัญที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจองเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) และเป็นวัดธรรมยุติกนิกายแห่งแรกในภาคอีสาน ในสมัยที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) เป็นอธิบดีสงฆ์ปกครองวัดแห่งนี้ (พ.ศ.2446-2458) ท่านได้รวบรวมโบราณวัตถุตามสถานที่ต่าง ๆ มาเก็บรักษาไว้ที่วัด โบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับอารยธรรมเขมร เช่น ศิลาจารึกวัดสุปัฏนารามวรวิหาร หลักที่ 1 อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 พบที่ถ้ำภูหมาไน อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ศิลาจารึกหลักนี้จารด้วยตัวอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต เนื้อหาของจารึกกล่าวถึงพระเจ้ามเหนทรวรมัน (เจ้าชายจิตรเสน) กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรเจนละ ทับหลังศิลปะถาราบริวัตร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ที่งดงาม นำมาจากอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี และเทวรูปพระคเณศ ทำจากหินทราย ศิลปะเขมรผสมผสานกับศิลปะแบบพื้นเมือง สร้างขึ้นราวมพุทธศตวรรษที่ 17-18 นำมาจากวัดป่าพระพิฆเรศวร์ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เทวรูปองค์นี้กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์เป็นผู้นำมาถวายให้แด่วัด ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นเทวรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์มาก เป็นต้น
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่เก็บรักษาโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่เกี่ยวเนื่องด้วยอารยธรรมเขมร เช่น เทวรูปอรรธนารีศวร ทำจากหินทราย เทวรูปองค์นี้ครึ่งหนึ่งเป็นพระศิวะ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นพระอุมา ประทับนั่งในท่าขัดสมาธิ และสวมกุณฑลขนาดใหญ่คล้ายกันกับที่พบในศิลปะจาม สันนิษฐานว่าประติมากรรอรรธนารีศวรองค์นี้มีอายุเก่าแก่ที่สุดในอุษาคเนย์ (หรืออาจเก่าแก่ที่สุดในโลกก็เป็นได้) เทวรูปพระคเณศ ศิลปะเกาะแกร์ หรือศิลปะแปรรูป ทำจากหินทราย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 เทวรูปองค์นี้นำมาจากอำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี ชาวบ้านเรียกเทวรูปองค์นี้ว่า “พระสีโห สังข์ทอง” ถือเป็นเทวรูปศักดิ์สิทธิ์ที่คนในพื้นที่ให้ความเคารพศรัทธาเป็นจำนวนมาก ประติมากรรมรูปสิงห์ ศิลปะแบบบาปวน อายุราวพุทธศตวรรณที่ 15-16 นำมาจากบ้านดงเมืองเตย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร (เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี) และทับหลังรูปเทพนพเคราะห์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 นำมาจากปราสาทบ้านเบ็ญจ์ อำเภอทุ่งศรีอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ถือเป็นทับหลังรูปเทพนพเคราะห์ที่มีความสมบูรณ์มากชิ้นหนึ่ง
โบราณวัตถุเหล่านี้ คือ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของอาณาจักรเขมรโบราณที่เคยรุ่งเรืองเหนือดินแดนแถบนี้ โบราณสถานและโบราณวัตถุทั้งหลายนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่เศษซากที่ถูกทำลายโดยกาลเวลา หากทว่าเป็นเสมือน “จิตวิญญาณ” ของแผ่นดินอันทรงคุณค่า ที่อนุชนจะต้องหวงแหนรักษา เพราะประโยชน์ที่พึงได้รับจากการอนุรักษ์นั้น นอกเหนือจากความภาคภูมิใจแล้ว มรดกของแผ่นดินเหล่านี้ยังเป็น “ทุนทางวัฒนธรรม” ที่สามารถเแปรเปลี่ยนเป็น “มูลค่า” มหาศาล ที่มาพร้อมกับการท่องเที่ยวอีกด้วย
|