Title | ความสัมพันธ์ระหว่างภาษาและอุดมการณ์ความเป็นมนุษย์เงินเดือนในแฟนเพจเฟซบุ๊ค Group มนุษย์เงินเดือน |
Publication Type | วิทยานิพนธ์/Thesis |
Year of Publication | 2563 |
Authors | นภาจริน สุขอ้วน |
Degree | ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต -- สาขาวิชาภาษาไทย |
Institution | คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี |
City | อุบลราชธานี |
Call Number | P น196ค 2563 |
Keywords | การวิเคราะห์ภาษา, การใช้ภาษาไทย, ภาษาศาสตร์ -- การวิเคราะห์, ภาษาและอุดมการณ์, ภาษาไทย -- การใช้ภาษา, มนุษย์เงินเดือน, วจนะวิเคราะห์ |
Abstract | แฟนเพจเฟซบุ๊กเป็นวาทกรรมที่มีผลต่อสังคมวงกว้าง เนื่องจากเป็นวาทกรรมที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลาและเข้าถึงได้อย่างไม่จำกัด ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาอุดมการณ์ที่ประกอบสร้างและสื่อผ่านกลวิธีทางภาษาในแฟนเพจเฟซบุ๊ก Group มนุษย์เงินเดือน ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2560-พฤษภาคม 2561 จำนวน 315 ภาพ ตามแนวคิดวาทกรรมวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ โดยอาศัยกรอบมิติทั้งสามของวาทกรรมของแฟร์คลัฟ (Fairclough, 1995)
ผลการวิจัยพบว่าแฟนแพจ Group มนุษย์เงินเดือนใช้กลวิธีทางภาษาเพื่อสื่อความเป็นมนุษย์เงินเดือน ดังนี้ 1) การใช้ถ้อยคำอุปลักษณ์ 2) การใช้มูลบท 3) การกล่าวอ้าง 4) การใช้คำแสดงการประเมินค่า 5) การใช้คำแสดงทัศนภาวะ 6) การใช้ประโยคแสดงเหตุผล 7) การใช้คำถามเชิงวาทศิลป์ และ 8) การเลือกใช้คำศัพท์และกลวิธีทางอวัจนภาษา ดังนี้ 1) การใช้ความหมายของภาพ 2) การใช้ขนาดตัวอักษร และ 3) การใช้สี ซึ่งผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า แฟนเพจมีการใช้กลวิธีทางภาษาที่หลากหลายทั้งในระดับการเลือกใช้คำศัพท์ การเรียบเรียงประโยค การสื่อความหมาย รวมถึงกลวิธีทางปริจเฉท กลวิธีดังกล่าวเป็นกลไกในการสื่อความหมายว่า มนุษย์เงินเดือน คือ ผู้ที่ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใขในการทำงานอย่างเต็มความรู้ความสามารถ วาทกรรมได้สร้างความคิดของคนในสังคมว่าการเป็นมนุษย์เงินเดือนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องรับมืออุปสรรคในการทำงานไม่ว่าจะเป็น เพื่อนร่วมงาน เจ้านาย หรือลูกค้า ซึ่งมีความกดดันสูงและเผชิญกับการแบ่งชนชั้น โดยมีเงินเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญมากที่สุดในชีวิตคนกลุ่มที่เรียกตนเองว่า “มนุษย์งินเดือน”
จากกลวิธีทางภาษาข้างต้นพบว่า กลวิธีทางภาษามีความสัมพันธ์กับอุดมการณ์ และมีความสำคัญต่อการนำเสนออุดมการณ์ความเป็นมนุษย์เงินเดือน ดังนี้ 1) อุดมการณ์การทำงานของมนุษย์เงินเดือน 2)อุดมการณ์ทุนนิยม 3) อุดมการณ์วัตถุนิยม 4) บริโภคนิยม 5) อุดมการณ์เงินตรานิยม และ 6) อุดมการณ์ทุนนิยม โดยอุดมการณ์ความเป็นมนุษย์เงินเดือนจะถูกผลิตซ้ำอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากแฟนเพจเป็นสื่อรูปแบบหนึ่งที่มีวิธีการนำเสนอที่สามารถสะท้อนความเป็นจริง ส่วนหนึ่งของสังคมผ่านวิธีการนำเสนอแบบไม่ใช้อำนาจบังคับรุนแรง แต่เป็นการสร้างวาทกรรมแห่งมิตร เพื่อการเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป ดังนั้นแฟนเพจจึงมิได้ทำหน้าที่เป็นเพียงสังคมออนไลน์เพื่อความบันเทิงเท่านั้น แต่แฟนเพจยังทำหน้าที่พื้นที่ส่งสารทางอุดมการณ์ที่ตอกย้ำหรือสื่อความคิดต่าง ๆ ที่มีผลต่อทัศนคติและการแสดงออกทางสังคมของมนุษย์เงินเดือนหรือผู้อ่านในสังคมไทยด้วยเช่นกัน
|
Title Alternate | Relationships of language and ideology in the "Salary man" Facebook fanpage |