Title | การพัฒนาไบเจลกักเก็บน้ำมันงาสำหรับผิวแห้ง |
Publication Type | วิทยานิพนธ์/Thesis |
Year of Publication | 2561 |
Authors | วันเฉลิม สีหบุตร |
Degree | วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต -- สาขาวิชาศาสตร์แห่งเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพ |
Institution | คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี |
City | อุบลราชธานี |
Call Number | RS ว425ก 2561 |
Keywords | งา -- เภสัชฤทธิวิทยา, น้ำมันงา, ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง, ผิวแห้ง, เครื่องสำอางสมุนไพร, เครื่องสำอางสำหรับผิวแห้ง, เจล |
Abstract | สูตรตำรับไบเจลเป็นระบบโครงสร้าง 2 เฟสได้จากการผสมไฮโดรเจลและออแกโนเจล ที่สามารถกักเก็บปริมาณน้ำมันงาสำหรับเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง ซึ่งไบเจลมีข้อดีคือ ไม่เหนียวเหนอะหนะ สามารถล้างออกได้ง่าย อย่างไรก็ตามในการศึกษาและพัฒนาสูตรต้าไบเจลกักเก็บน้ำมันงายังต้องคำนึงถึงความคงตัวทั้งทางกายภาพและทางเคมี การซึมผ่านสารสำคัญ และปริมาณน้ำที่ระเหยออกจากผิวหนัง วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้ คือ พัฒนาสูตรตำรับไบเจล ประเมินความคงตัวทั้งทางกายภาพและทางเคมี ศึกษาการซึมผ่านสารสำคัญและปริมาณน้ำที่ระเหยออกจากผิวหนังในแต่ละสูตรตำรับ สูตรตำรับไบเจลเตรียมและผสมโดยใช้เครื่องปั่นผสม ศึกษากระบวนการเตรียมไบเจลกักเก็บน้ำมันงา ได้แก่ ผลของอัตราเร็วในการปั่นผสม เวลาในการปั่นผสม เพื่อศึกษาความคงตัวทางกายภาพและทางเคมีที่สภาวะปกติและสภาวะเร่ง ศึกษาการซึมผ่านทางผิวหนังโดยใช้เครื่องทดสอบการซึมผ่านผิวหนังชนิดแนวตั้ง และศึกษาปริมาณน้ำที่ระเหยจากผิวหนัง เตรียมและเปรียบเทียบตำรับไบเจลกักเก็บน้ำมันงา อิมัลชัน ออแกโนเจล ไฮโดรเจล และน้ำมันงา จากการพัฒนาสูตรตำรับ ไบเจลกักเก็บน้ำมันงาเบื้องต้นโดยปรับปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ได้สูตรตำรับที่เหมาะสมกักเก็บน้ำมันงาได้ร้อยละ 56 สารลดแรงตึงผิวร้อยละ 14 และไฮโดรเจลร้อยละ 30 ได้ลักษณะทางกายภาพที่เหมาะสมที่อัตราเร็วในการปั่นผสมตำรับไบเจล 4 ตำรับ ได้แก่ 400, 800, 1200 รอบต่อนาทีเป็นเวลา 10 นาที และ1200 รอบต่อนาที เป็นเวลา 13 นาที ได้จากการวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ Design Expert® หลังจากทดสอบในสภาวะเร่งไม่พบการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของตำรับไบเจล (ปั่นผสม 1200 รอบต่อนาทีเป็นเวลา 13 นาที) อิมัลชัน ออแกโนเจล ไฮโดรเจล และน้ำมันงา เมื่อศึกษาความคงตัวทางเคมีพบว่า สารเซซามินและเซซาโมลินที่คงเหลือมากกว่าร้อยละ 80 การซึมผ่านผิวหนัง (ฟลัคซ์) ของทั้งสารเซซามินและเซซาโมลิน ในไบเจลมีค่าเท่ากับ 0.62±0.06 ไมโครกรัม/ซม2/ชม และ 0.26±0.03 ไมโครกรัม/ซม2/ชม ตามลำดับ สูงกว่าตำรับอิมัลชัน คือ 0.21±0.03 ไมโครกรัม/ซม2/ชม และ 0.07±0.00 ไมโครกรัม/ซม2/ชม ตามลำดับ ส่วนการศึกษาปริมาณน้ำที่ระเหยออกจากผิวหนังของตำรับไบเจล (41.13±0.53) มีค่าสูงกว่าตำรับอิมัลชัน(39.86±1.09) และออแกโนเจล (37.94±1.14) ดังนั้น การพัฒนาไบเจลกักเก็บน้ำมันงาที่ได้มีน้ำมันงาปริมาณสูง ไม่เหนียวเหนอะหนะ ล้างน้ำออกได้ง่าย สามารถซึมผ่านผิวหนัง และป้องกันน้ำที่ระเหยออกจากผิวหนังได้ดีกว่าตำรับอิมัลชันและออแกโนเจล |
Title Alternate | Development of sesame oil loaded bigels for dry skin |