การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การหายใจระดับเซลล์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ด้วยกิจกรรมเกมและการลงมือปฏิบัติบนฐานการสืบเสาะวิทยาศาสตร์

Titleการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การหายใจระดับเซลล์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ด้วยกิจกรรมเกมและการลงมือปฏิบัติบนฐานการสืบเสาะวิทยาศาสตร์
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2562
Authorsอรรถพล กุลบุตร
Degreeวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต -- สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ศึกษา
Institutionคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberQP อ357 2562
Keywordsการลงมือปฏิบัติ, การสอนวิทยาศาสตร์, การสืบเสาะวิทยาศาสตร์, การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้, กิจกรรมเกม, ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
Abstract

งานวิจัยนี้ประกอบด้วยการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์และด้านการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดแยกยีสต์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการหมักเอทานอลจากลูกแป้ง จากแหล่งจังหวัดอุบลราชธานี (UB) ศรีสะเกษ (SK) และสุรินทร์ (SR) จำนวน 5 ตัวอย่าง คัดแยกเชื้อและทดสอบความสามารถในการหมักเอทานอลเบื้องต้น พบ 22 ไอโซเลตที่มีประมาณเอทานอลมากกว่าร้อยละ 6 โดยปริมาตรต่อปริมาตร จำแนกเชื้อโดยการเทียบลำดับเบสบริเวณตำแหน่ง D1/D2 ของยีน 26S rDNA ผลการระบุสปีชีส์ใกล้เคียงกับยีสต์ 2 สปีชีส์ โดยไอโซเลตจากแหล่ง อ.เดชอุดม (UB2) และ อ.กันทรารมย์ (SK1) ใกล้เคียงกับ Wickerhamomyces anomalus ส่วนแหล่ง อ.เมืองศรีสะเกษ (SK2) และ อ.สำโรงทาบ (SR) ใกล้เคียงกับ Candida tropicalis ในการทดสอบคุณสมบัติทางชีวเคมีเบื้องต้น ผลการทดลองพบว่า W.anomalus สามารถใช้และหมักน้ำตาลได้เฉพาะกลูโคส ฟรุกโทส มอลโทส และซูโครส ในขณะที่ C.tropicalis สามารถใช้และหมักน้ำตาลกลูโคส กาแลคโทส ฟรุกโทส มอลโทส และซูโครส เมื่อนำยีสต์บริสุทธิ์ทดสอบการหมักเอทานอลด้วยกากน้ำตาล พบว่า ยีสต์ C.tropicalis จากแหล่ง SK2 สามารถหมักและให้ปริมาณเอทานอลสูงสุดที่เวลา 36 ชั่วโมง เท่ากับร้อยละ 6.8±0.01 โดยปริมาตรต่อปริมาตรและผลผลิตเอทานอลสูงสุดเท่ากับ 0.39 กรัมเอทานอลต่อกรัมน้ำตาล ด้านการศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและศึกษาความพึงพอใจเรื่องการหายใจระดับเซลล์ด้วยกิจกรรมเกมและการลงมือปฏิบัติบนฐานการสืบเสาะวิทยาศาสตร์ กลุ่มที่ศึกษาได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 1 ห้องเรียน เก็บข้อมูลจาก 1) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนซึ่งเป็นข้อสอบชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 45 ข้อ 2)ใบงาน และ 3) แบบสอบถามความพึงพอใจ จำนวน 11 ข้อ ผลการวิจัยพบว่ากิจกรรมการเรียนรู้นี้มีค่าประสิทธิภาพ (E1/E2) และค่าดัชนีประสิทธิภาพ (E.I) เท่ากับ 83.96/84.21 และ 0.7674±0.10 ตามลำดับ ความก้าวหน้าทางการเรียนของนักเรียนคิดเป็นร้อยละ 76.74 (=0.7674) จัดเป็นความก้าวหน้าในระดับสูง นักเรียนยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจากระดับไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ (ร้อยละ 32.38±12.06) ไปสู่ระดับดีเยี่ยม (ร้อยละ 84.21±13.74) ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) และความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้อยู่ในระดับมาก (4.39±0.80)

Title Alternate Development of grade 10 students' achievement in cellular respiration using game and hands-on science inquiry-based activities