การศึกษาการใช้ใบมันสำปะหลังแห้งในอาหารผสมครบส่วนต่อการใช้ประโยชน์ของโภชนะ สมรรถภาพการผลิตและคุณภาพซากโคขุนลูกผสมพันธุ์ซาโรเล่ส์

Titleการศึกษาการใช้ใบมันสำปะหลังแห้งในอาหารผสมครบส่วนต่อการใช้ประโยชน์ของโภชนะ สมรรถภาพการผลิตและคุณภาพซากโคขุนลูกผสมพันธุ์ซาโรเล่ส์
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2562
Authorsเอกพันธุ์ อินทร์งาม
Degreeปรัชญาดุษฎีบัณฑิต -- สาขาวิชาเกษตรศาสตร์
Institutionคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Call NumberSB อ878ก 2562
Keywordsสัตว์เคี้ยวเอิ้อง, อาหารสัตว์, โคขุนลูกผสมพันธุ์ซาโรเล่ส์, ใบมันสำปะหลัง
Abstract

การวิจัยครั้งนี้ได้ทำการศึกษาคุณค่าทางโภชนะของใบมันสำปะหลังแห้งและระดับการใช้ใบมันสำปะหลังที่เหมาะสมในสูตรอาหารผสมครบส่วน ต่อการย่อยได้ของโภชนะและสมรรถภาพการผลิตโคลูกผสมพันธุ์ชาโรเล่ส์ โดยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัยคือ 1) เพื่อศึกษาองค์ประกอบทางเคมีและการย่อยได้ของใบมันสำปะหลัง 2) เพื่อศึกษาอัตราการใช้ใบมันสำปะหลังแห้งที่เหมาะสมในอาหารผสมครบส่วนต่อสมรรถภาพการผลิตของโคลูกผสมพันธุ์ชาโรเล่ส์ในระยะรุ่นและระยะขุน 3) เพื่อศึกษาคุณภาพซากของโคขุนลูกผสมพันธุ์ชาโรเล่ส์ที่เลี้ยงด้วยอาหารผสมครบส่วนที่มีใบมันสำปะหลังแห้งเป็นส่วนผสมในอัตราที่แตกต่างกัน และ 4) เพื่อศึกษาต้นทุนและกำไรจากการเลี้ยงโคขุนลูกผสมพันธุ์ชาโรเล่ส์ด้วยอาหารผสมครบส่วนที่มีใบมันสำปะหลังแห้งเป็นส่วนผสมในอัตราที่แตกต่างกัน โดยแบ่งงานทดลองออกเป็น 3 งานทดลอง
งานทดลองที่ 1 ศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของใบมันสำปะหลังแห้งโดยวิเคราะห์แบบประมาณ (Proximate analysis) และวิเคราะห์องค์ประกอบของเยื่อใยโดยใช้สารฟอก (Detergent analysis) ทำการทดสอบการย่อยได้ในหลอดทดลองด้วยเทคนิคผลผลิตแก๊ส ซึ่งผลการทดลองพบว่าใบมันสำปะหลังมีองค์ประกอบของโภชนะที่สำคัญ คือ วัตถุแห้ง โปรตีน ไขมัน เยื่อใยที่ไม่ละลายในสารฟอกที่เป็นกลาง (NDF) และเยื่อใยที่ไม่ละลายในสารฟอกที่เป็นกรด (ADF) ในปริมาณร้อยละ 93.9 15.0 6.47 54.0 และ 37.8 ของวัตถุแห้งตามลำดับ การทดสอบการย่อยได้ในหลอดทดลองพบว่า ใยมันสำปะหลังแห้งมีค่าการย่อยได้ของวัตถุแห้งและอินทรียวัตถุร้อยะล 58.46±1.59 และ 58.73±1.55 ตามลำดับ ค่าพลังงานที่ใช้ประโยชน์ได้ (ME) จากการผลิตแก๊สมีประมาณเท่ากับ 6.88±0.60 เมกะจูลต่อกิโลกรัมวัตถุแห้ง และมีปริมาณการผลิตกรดไขมันสายสั้นเท่ากับ 0.46±0.08 มิลลิโมล
งานทดลองที่ 2 ศึกษาระดับการใช้ใบมันสำปะหลังที่เหมาะสมต่อสมรรถภาพการผลิตโคลูกผสมพันธุ์ชาโรเล่ส์ในระยะรุ่น โดยใช้โครุ่นลูกผสมที่มีระดับสายเลือดชาโรเล่ส์ประมาณ 50-75 เปอร์เซ็นต์ น้ำหนักตัวเฉลี่ย 235±34 กิโลกรัม จำนวน 15 ตัว ใช้แผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ในบล็อก แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มทดลอง และทำการบล็อกโดยใช้น้ำหนักตัว จำนวน 5 บล็อก โคแต่ละกลุ่มจะได้รับอาหารผสมครบส่วนที่มีใบมันสำปะหลังแห้งเป็นส่วนผสมที่ระดับร้อยละ 0, 15 และ 30 ของวัตถุแห้ง โดยมีสัดส่วนอาหารหยาบและอาหารข้น 60:40 ศึกษาการย่อยได้ในหลอดทดลองด้วยเทคนิคผลผลิตแก๊ว โดยทำการทดลอง 183 วัน ผลการทดลองพบว่า โคที่ได้รับอาหารที่มีใบมันสำปะหลังเป็นส่วนผสมร้อยละ 30 มีปริมาณการกินได้ของวัตถุแห้งสูงที่สุดเฉลี่ย 2.31 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว (P<0.05) ค่าการย่อยได้ของอาหารทดลองที่มีใบมันสำปะหลังเป็นส่วนผสมร้อยละ 30 มีค่าการย่อยได้ของวัตถุแห้งต่ำที่สุดร้อยละ 49.37±3.11 (P<0.05) อัตราการเจริญเติบโตและอัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นน้ำหนักตัวพบว่า โคกลุ่มที่ได้รับอาหารที่มีใบมันสำปะหลังเป็นส่วนผสมร้อยละ 15 มีค่าเฉลี่ยดีที่สุด (P<0.05) และต้นทุนค่าอาหารต่อการเพิ่มน้ำหนักตัวของโคทุกกลุ่มไม่แตกต่างกัน (P>0.05) จากผลการทดลองสรุปได้ว่าการใช้ใบมันสำปะหลังแห้งเป็นส่วนประกอบของอาหารผสมครบส่วนที่ระดับร้อยละ 15 ของวัตถุแห้ง ไม่มีผลกระทบต่อสมรรถภาพการผลิตของโคลูกผสมพันธุ์ชาโรเล่ส์ในระยะรุ่น แต่การใช้ใบมันสำปะหลังแห้งที่ระดับร้อยละ 30 ของวัตถุแห้งพบว่าทำให้สมรรถภาพการผลิตของโคลดลง
การทดลองที่ 3 ศึกษาสมรรถภาพการผลิตและคุณภาพซากของโคขุนลูกผสมชาโรเล่ส์ที่เลี้ยงด้วยอาหารผสมครบส่วนที่มีใบมันสำปะหลังเป็นส่วนผสม โดยใช้โคขุนลูกผสมที่มีระดับสายเลือดชาโรเล่ย์ประมาณ 50-75 เปอร์เซ็นต์ นำ้หนักตัวเฉลี่ย 725±97 กิโลกรัม จำนวน 15 ตัว ใช้แผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ในบล็อก แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มทดลอง และทำการบล็อกด้วยน้ำหนักตัวจำนวน 5 บล็อก โดยโคแต่ละกลุ่มจะได้รับอาหารผสมครบส่วนที่ไม่มีและมีใบมันสำปะหลังแห้งเป็นส่วนผสมร้อยละ 15 และ 30 ของวัตถุแห้ง โดยมีสัดส่วนของอาหารหยาบและอาหารข้น 40:60 ทำการศึกษาการย่อยได้ในหลอดทดลองด้วยเทคนิคผลผลิตแก๊ส ระยะเวลาการทดลอง 122 วัน จากนั้นสุ่มโคเข้าโรงฆ่าชำแหล่ะจำนวนกลุ่มทดลองละ 4 ตัว เพื่อทำการประเมินคุณภาพซากและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ผลการทดลองพบว่า อาหารสูตรควบคุมและสูตรที่มีใบมันสำปะหลังแห้งเป็นส่วนผสมร้อยละ 15 และ 30 ของวัตถุแห้ง มีค่าการย่อยได้ของวัตถุแห้งและอินทรียวัตถุไม่แตกต่างกัน (P>0.05) สมรรถภาพการผลิตและคุณภาพซากของโคขุนที่เลี้ยงด้วยอาหารผสมครบส่วนที่มีใบมันสำปะหลังเป็นส่วนผสมพบว่าไม่แตกต่างกัน (P>0.05) กับกลุ่มที่ได้รับอาหารที่ไม่มีใบมันสำปะหลังเป็นส่วนผสม ในส่วนของผลตอบแทนทางเศรษฐกิจพบว่ากำไรสุทธิจากการเลี้ยงโคขุนด้วยอาหารที่ไม่มีและมีใบมันสำปะหลังเป็นส่วนผสมไม่แตกต่างกัน (P>0.05) แต่ต้นทุนค่าอาหารมีแนวโน้มลดลงในกลุ่มที่ได้รับอาหารที่มีใบมันสำปะหลังเป็นส่วนผสมร้อยละ 30 และ 15 ตามลำดับ (P<0.05)

Title Alternate The study of dried cassava leaves il total mixed ration on nutrient utilization performances and carcass quality of Chalolais crossbred fattening cattle