Abstract | หลักการและเหตุผล: การใช้ยาต้านโคลิเนอร์จิกอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์อาทิ ทำให้เกิดความสับสน ตาพร่ามัว และกล้ามเนื้ออ่อนแรง จนนำมาสู่การหกล้มที่ต้องเข้ารับการรักษา
ในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของยาต้านโคลิเนอร์จิกกับการหกล้มในประเทศไทย
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาอัตราอุบัติการณ์ ระยะปลอดเหตุการณ์จากการหกล้ม และความสัมพันธ์ของยาต้านโคลิเนอร์จิกกับการหกล้ม
วิธีการศึกษา: การศึกษาโคฮอร์ทแบบย้อนหลัง ใช้ข้อมูลจากเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ป่วยในโรงพยาบาลวารินชำราบและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในเครือข่าย 22 แห่ง ระหว่าง1 มกราคม พ.ศ. 2553 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ทำการคัดเลือกผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปที่ได้รับยาต้านโคลิเนอร์จิกเป็นครั้งแรกและใช้ยาอย่างต่อเนื่อง พร้อมคำนวนคะแนน AnticholinergicCognitive Burden (ACB) จากค่ามาตรฐานที่พัฒนาโดย Boustani M และคณะ โดยแบ่งกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ป่วยที่มีคะแนน ACB = 1 คะแนน กลุ่มผู้ป่วยที่มีคะแนน ACB= 2 ถึง 3 คะแนน กลุ่มผู้ป่วยที่มีคะแนน ACB มากกว่าหรือเท่ากับ 4 คะแนน และกลุ่มผู้ป่วยใช้ยาอื่นๆ (คะแนน ACB เท่ากับ 0 คะแนน) สืบค้นผู้ป่วยที่หกล้มด้วยรหัส ICD 10: W00-W200,Y30-Y31 และจากคำสำคัญ เช่น “หกล้ม” ติดตามผู้ป่วยเป็นระยะเวลา 5 ปี หรือจนกระทั่งเกิดหกล้ม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยอัตราอุบัติการณ์การหกล้ม และหาความสัมพันธ์ของการใช้ยาต้านโคลิเนอร์จิกกับการหกล้มโดยใช้ Cox Proportional Hazard Regression Model
ผลการศึกษา: จากผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การศึกษาจำนวน 16,624 ราย อายุเฉลี่ย 73.02±6.77 ปีเพศหญิงร้อยละ 54.7 ระยะเวลาติดตามเฉลี่ย 4.15±1.52 ปี พบผู้ป่วยที่เกิดหกล้มในกลุ่มที่ใช้ยาต้านโคลิเนอร์จิก 981 ราย (ร้อยละ 25.0) และกลุ่มที่ใช้ยาอื่นๆ 1,204 ราย (ร้อยละ 9.5) โดยมีอัตราอุบัติการณ์ของการหกล้ม 60.80 และ 22.77 คนต่อ 1,000 คน-ปี ในแต่ละกลุ่มตามลำดับระยะเวลาเฉลี่ยตั้งแต่เริ่มใช้ยาจนเกิดการหกล้มเท่ากับ 1.48±1.58 และ 2.65±1.57 ปี ตามลำดับและเมื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงของการหกล้มจากการใช้ยาต้านโคลิเนอร์จิกจำแนกตามระดับคะแนนรวมACB = 1 คะแนน, 2 ถึง 3 คะแนน และ≥ 4 คะแนน เทียบกับกลุ่มควบคุม (ACB = 0 คะแนน) พบว่า Adjusted Hazard Ratio ของการหกล้มเพิ่มขึ้น 1.28 เท่า (95%CI 1.14 – 1.44, p<0.001),1.83 เท่า (95%CI 1.61 – 2.09, p<0.001) และ 3.25 เท่า (95%CI 2.71 – 3.89, p<0.001)ตามลำดับ
สรุป: ยาต้านโคลิเนอร์จิกเพิ่มความเสี่ยงการหกล้มในผู้สูงอายุ หากมีการใช้ยาต่อเนื่องควรติดตามประเมินความเสี่ยงดังกล่าว พร้อมให้ความรู้กับผู้ป่วยเพื่อเฝ้าระวังการหกล้มที่อาจเกิดขึ้น
|