กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจสีเขียว: กรณีศึกษาธุรกิจสถานีให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิงในเขตอำเภอเมือง จังหวัดยโสธร

Titleกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจสีเขียว: กรณีศึกษาธุรกิจสถานีให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิงในเขตอำเภอเมือง จังหวัดยโสธร
Publication Typeวิทยานิพนธ์/Thesis
Year of Publication2564
Authorsธนากร คำนึง
Degreeบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต
Institutionคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Cityอุบลราชธานี
Keywordsธุรกิจสีเขียว, สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
Abstract

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาการดำเนินธุรกิจสีเขียว 2) เพื่อสร้างกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจสีเขียว และ 3) เพื่อประเมินความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และความคุ้มค่าของกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจสีเขียว สำหรับธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดยโสธร การวิจัยนี้ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสมผสาน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสัมภาษณ์ ผู้วิจัยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกและการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วมในการเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหาและการตรวจสอบสามเส้า โดยมีกลุ่มผู้ให้ข้อมูลหลัก ดังนี้ 1) ผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 7 ราย 2) ลูกค้าที่เข้าใช้บริการน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 12 ราย
และ 3) เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับการควบคุมมลพิษสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยภายในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 2 ราย คัดเลือกโดยวิธีเจาะจง และผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อประเมินกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจสีเขียวของธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดยโสธร จำนวน 3 ราย ซึ่งได้ผลการวิจัยดังนี้
(1) การดำเนินธุรกิจสีเขียว พบว่า 1) รูปแบบการดำเนินธุรกิจสีเขียวผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงยังขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจสีเขียวทั้งหมด และยังคงดำเนินธุรกิจสีเขียวตามเงื่อนไขข้อตกลงกับธุรกิจแฟรนไชส์หลักเพียงเท่านั้น 2) การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงให้ความสำคัญในการลดการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยและให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด เพื่อที่จะสามารถลดต้นทุน หรือช่วยลดค่าใช้จ่าย 3) การสร้างภาพลักษณ์ผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงนำแนวทางการดำเนินธุรกิจสีเขียวเข้ามาใช้เพียงส่วนหนึ่งเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ธุรกิจคอยสามารถสร้างแรงจูงใจลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ 4) การพัฒนากระบวนการธุรกิจสีเขียวผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงนำโซล่าเซลล์มาใช้เป็นพลังงานทดแทนภายในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นส่วนใหญ่ และพยายามนำนวัตกรรมการนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ได้เข้ามาใช้ในธุรกิจ ทั้งนี้ยังรวมถึงการคอยให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมภายในองค์กรและชุมชนใกล้เคียงอย่างสม่ำเสมอ
(2) กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจสีเขียว พบว่า ผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงควรใช้กลยุทธ์ในการพัฒนาและปรับปรุง โดยแบ่งแนวทางปฏิบัติออกเป็น 4 แนวทางคือ (1) กลยุทธ์เชิงรุกผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์การสร้างภาพลักษณ์องค์กรอย่างเป็นรูปธรรม โดยดำเนินกิจกรรมหลักคือ การประชาสัมพันธ์จุดยืนขององค์กรในการดำเนินธุรกิจไปตามแนวทางธุรกิจสีเขียว (2) กลยุทธ์เชิงรับ ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์การสร้างการเรียนรู้จากองค์กรต้นแบบที่มีความเป็นเลิศ โดยดำเนินกิจกรรมหลัก คือ การศึกษาดูงานเพื่อเรียนรู้จากองค์กรที่ประสบความสำเร็จจากการดำเนินธุรกิจสีเขียว (3) กลยุทธ์เชิงแก้ไข ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์การสร้างองค์ความรู้แก่องค์กร โดยดำเนินกิจกรรมหลัก คือ การจัดอบรมเรื่องธุรกิจสีเขียวเพื่อให้เกิดองค์ความรู้แก่บุคลากร และ (4) กลยุทธ์เชิงแก้ไข ผู้ประกอบการควรใช้กลยุทธ์การสร้างความร่วมมือระยะยาวกับพันธมิตรคู่ค้า โดยดำเนินกิจกรรมหลัก คือ การลดการใช้ถุงพลาสติก และการประหยัดไฟฟ้าและน้ำ
(3) ผลการประเมินกลยุทธ์ พบว่า 1) กลยุทธ์การสร้างภาพลักษณ์องค์กรอย่างเป็นรูปธรรมโดยมีกิจกรรมหลัก คือ การประชาสัมพันธ์วิสัยทัศขององค์กรในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางธุรกิจสีเขียว พบว่า ในด้านความเหมาะสม ด้านความเป็นไปได้ และด้านความคุ้มค่า ทั้งสามด้านอยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.33 ทั้งหมด) 2) กลยุทธ์การสร้างการเรียนรู้จากองค์กรต้นแบบที่มีความเป็นเลิศ โดยมีกิจกรรมหลัก คือ การศึกษาดูงาน พบว่า ในด้านความเหมาะสม ด้านความเป็นไปได้และด้านความคุ้มค่า ทั้งสามด้านอยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.33-4.66) 3) กลยุทธ์การสร้างความร่วมมือระยะยาวกับพันธมิตรคู่ค้า โดยมีกิจกรรมหลัก คือ การลดการใช้ถุงพลาสติก พบว่า ในด้านความเหมาะสม ด้านความเป็นไปได้ และด้านความคุ้มค่า ทั้งสามด้านอยู่ในระดับมากที่สุด(ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.33-4.66) และกิจกรรมหลักการประหยัดทรัพยากรสิ้นเปลือง อาทิ น้ำประปา ไฟฟ้า
เป็นต้น พบว่า ในด้านความเหมาะสม ด้านความเป็นไปได้ และด้านความคุ้มค่า ทั้งสามด้านอยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.33-4.66) 4) กลยุทธ์การสร้างองค์ความรู้แก่องค์กร โดยมีกิจกรรมหลัก คือการจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการดำเนินธุรกิจสีเขียวแก่บุคลากรในองค์กร พบว่า ในด้านความเหมาะสมด้านความเป็นไปได้ และด้านความคุ้มค่า ทั้งสามด้านอยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5.00)

Title Alternate Strategy for green business: a case study of petroleum station in Mueang district, Yasothon province