Title | ปัญหาและแนวทางการพัฒนางานด้านการผดุงครรภ์ไทย |
Publication Type | วิทยานิพนธ์/Thesis |
Year of Publication | 2564 |
Authors | สุพรรณฉัตร หนูสวัสดิ์ |
Degree | ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต -- สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ |
Institution | คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี |
City | อุบลราชธานี |
Keywords | การผดุงครรภ์ไทย, การแพทย์แผนไทย |
Abstract | การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการและปัญหาในการดำเนินงานด้านการผดุงครรภ์ไทย และศึกษาแนวทางการพัฒนางานด้านการผดุงครรภ์ไทย การวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed methods research) ประกอบด้วยการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ การวิจัยเชิงปริมาณใช้แบบสอบถามสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เป็นแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลรัฐ จำนวน 458 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิจัยเชิงคุณภาพใช้เครื่องมือเป็นแบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง (Semistructured Interview) การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive sampling) จำนวน 40 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) และพรรณนาด้วยความเรียง ผลการวิจัยพบว่า 1) สภาพการดำเนินงานด้านการผดุงครรภ์ไทยตามมาตรฐานโรงพยาบาลส่งเสริมและสนับสนุนการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานมีการดำเนินงานอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 4.06±0.34) มีการบริการในระยะตั้งครรภ์ หลังคลอด และการดูแลทารก เช่น ประคบสมุนไพร อบสมุนไพร การแนะนำการปฏิบัติตัว การทับหม้อเกลือ การนวด และการใช้ยาสมุนไพร 2)ปัญหาการพัฒนางานด้านการผดุงครรภ์ไทย ภาพรวมมีปัญหาอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 4.11±0.39) พบปัญหาด้านการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานงานด้านการแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลรัฐต่ำกว่าที่สภาวิชาชีพกำหนด ขาดระบบและกลไกที่สนับสนุนการทำวิจัยทางแพทย์แผนไทย นโยบายไม่เอื้อต่อการปฏิบัติงาน การเรียนการสอนรายวิชาผดุงครรภ์ไทยในสถาบันการศึกษามีจำนวนหน่วยกิตที่เรียนน้อยและการฝึกประสบการณ์วิชาชีพทำได้ไม่ครอบคลุมตามมาตรฐานวิชาชีพ บุคลากรขาดขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ และ 3) แนวทางในการพัฒนางานด้านการผดุงครรภ์ไทย ภาพรวมอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 3.92±0.46) มีข้อเสนอแนะที่สำคัญต่อการพัฒนางานด้านการผดุงครรภ์ไทยในด้านการกำหนดบทบาทและขอบเขตการทำงานให้เป็นไปตามที่สภาการแพทย์แผนไทยกำหนด มีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องการกำหนดกรอบตำแหน่ง และค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางวิชาชีพ สนับสนุนให้มีการทำวิจัยอย่างต่อเนื่อง พิจารณาตัดหัตถการที่ซ้ำซ้อน เพิ่มเติมหัตถการที่จำเป็นเข้ามาในชุดการจัดบริการให้ครอบคลุมตามมาตรฐานวิชาชีพ และการพัฒนาระบบยาให้สอดคล้องกับหลักการใช้ยาของแพทย์แผนไทย งานวิจัยในครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนางานด้านการผดุงครรภ์ไทยให้ก้าวหน้าและเป็นที่ยอมรับยิ่งขึ้นไป |
Title Alternate | The problems and development of Thai traditional midwifery |