Title | การประเมินสภาวะทรัพยากรปลากระมัง Puntioplites proctozystron (Bleeker, 1865) และปลากดเหลือง Hemibagrus nemurus (Valenciennes, 1840) ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจานโดยใช้ฐานข้อมูลความยาว |
Publication Type | วิทยานิพนธ์/Thesis |
Year of Publication | 2564 |
Authors | ขจิตพรรณ์ เจริญเนตร |
Degree | วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต -- สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ |
Institution | คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี |
City | อุบลราชธานี |
Keywords | การจับปลา, การประมงน้ำจืด, การเจริญเติบโตของปลา, ข้อมูลความถี่ความยาว, ทรัพยากรประมง, ปลากดเหลือง, ปลากระมัง, ปลาวางไข่ |
Abstract | ประเทศไทยมีผลจับจากการประมงน้ำจืดประมาณ 116,500 ตันต่อปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการประมงน้ำจืดมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงทางอาหารและเสริมสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน แต่ในด้านการประเมินสภาวะทรัพยากรประมงน้ำจืดกลับยังไม่มีการดำเนินการอย่างแพร่หลายในประเทศมากนัก เนื่องจากข้อมูลที่ได้ไม่เพียงพอยังขาดข้อมูลผลจับและการลงแรงประมงที่เที่ยงตรงและแม่นยำ ในการศึกษานี้ทำการประเมินสภาวะทรัพยากรประมงน้ำจืดโดยใช้แบบจำลองประชากรเดียว (Single species population models) 2 แบบจำลอง ได้แก่ แบบจำลองผลจับต่อหน่วยทดแทนสัมพัทธ์ (Relative yield per recruit model) และแบบจำลองศักยภาพในการวางไข่โดยใช้ข้อมูลความถี่ความยาว (length-based spawning potential ratio model) ทำการศึกษาที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยสุ่มเก็บตัวอย่างปลา 2 ชนิด คือปลากระมัง Puntioplites proctozystron (Bleeker, 1865) และปลากดเหลือง Hemibagrus nemurus (Valenciennes, 1840) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2562 ถึงเดือนธันวาคม 2562 นำมาบันทึกความยาวเหยียดและชั่งน้ำหนักจะได้ข้อมูลความถี่ความยาว นำไปประมาณค่าทางพลวัตประชากร ได้แก่ พารามิเตอร์การเติบโต พารามิเตอร์การตาย และวิเคราะห์หาขนาดเลือกจับที่ทำให้มีระดับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เพื่อให้ข้อเสนอแนะในการจัดการประมงของปลากระมังและปลากดเหลืองในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจานต่อไป ผลการศึกษาพบว่าปลาทั้งสองชนิด มีการเติบโตแบบไอโซเมตริก, ค่าพารามิเตอร์การเติบโตจากแบบจำลอง von Bertalanffy ได้แก่ ค่าความยาวเฉลี่ยของปลาในสต๊อคนั้นของกลุ่มที่มีอายุมากที่สุด (L∞), สัมประสิทธิ์การเติบโต (K) และอายุสมมติเมื่อปลามีค่าความยาวตัวเป็นศูนย์ (t0) ของปลากระมัง เท่ากับ 36.2 เซนติเมตร, 0.39 ต่อปี และ -0.28 ปี ตามลำดับ สำหรับปลากดเหลืองมีค่าความยาวเฉลี่ยของปลาในสต๊อคนั้นของกลุ่มที่มีอายุมากที่สุด (L∞), สัมประสิทธิ์การเติบโต (K) และอายุสมมติเมื่อปลามีค่าความยาวตัวเป็นศูนย์ (t0) เท่ากับ 63.2 เซนติเมตร, 0.37 ต่อปี และ -0.32 ปี ตามลำดับ ปลากระมังมีค่าสัมประสิทธิ์การตายรวม (Z) เท่ากับ 2.44 ต่อปี, สัมประสิทธิ์การตายโดยธรรมชาติ (M) เท่ากับ 0.93 ต่อปี และสัมประสิทธิ์การตายโดยการประมง (F) เท่ากับ 1.51 ต่อปี สำหรับปลากดเหลืองมีค่าสัมประสิทธิ์การตายรวม (Z) เท่ากับ 1.78 ต่อปี สัมประสิทธิ์การตายโดยธรรมชาติ (M)เท่ากับ 0.77 ต่อปี และสัมประสิทธิ์การตายโดยการประมง (F) เท่ากับ 1.01 ต่อปี ระดับการใช้ประโยชน์ของปลาทั้งสองชนิดเกินกำลังการผลิตไปเล็กน้อย ขนาดสมบูรณ์เพศ ร้อยละ 50 (L50) และขนาดเลือกจับร้อยละ 50 (SL50) ของปลากระมัง เท่ากับ 17.8 และ 23.5 เซนติเมตร ตามลำดับ และปลากดเหลือง เท่ากับ 15.6 และ 20.8 เซนติเมตร ตามลำดับ เมื่อพิจารณาทั้งสองพารามิเตอร์ ขนาดแรกจับที่เหมาะสมสำหรับปลากระมังและปลากดเหลืองที่จะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจานอย่างยั่งยืน ควรจะมากกว่า 18 เซนติเมตร และมากกว่า 30 เซนติเมตร ตามลำดับ ซึ่งสามารถกระทำได้โดยกำหนดเป็นมาตรการควบคุมขนาดช่องตาของเครื่องมือประมง |
Title Alternate | Length based stock assessment of Puntioplites proctozystron (Bleeker, 1865) and Hemibagrus nemurus (Valenciennes, 1840) in Kangkrajan reservoir |