Title | การศึกษาความแปรผันทางสัณฐานวิทยาของปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์ |
Publication Type | วิทยานิพนธ์/Thesis |
Year of Publication | 2564 |
Authors | สุกัญญา ดำชู |
Degree | วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต -- สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ |
Institution | คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี |
City | อุบลราชธานี |
Keywords | การจัดการสัตว์น้ำ, ชีววิทยาประมง, ปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์, ระบบนิเวศทะเลสาบ, สัณฐานวิทยาของปลา, สัตว์น้ำ, แหล่งน้ำ |
Abstract | การระบุชนิดกลุ่มประชากรเป็นองค์ความรู้พื้นฐานในการศึกษาทางชีววิทยาประมงและการจัดการสัตว์น้ำเป้าหมายทางการประมง โดยการแยกกลุ่มประชากรปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์จากสภาพแวดล้อมของระบบนิเวศทะเลสาบและระบบนิเวศแหล่งน้ำไหลด้วยวิธีการทางสัณฐานวิทยาหลายตัวแปร โดยการเก็บตัวอย่างปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์จากทะเลสาบสงขลา จังหวัดสงขลา และตัวอย่างปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์จากแม่น้ำบาปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ชั่งน้ำหนัก นับจำนวนลักษณะรูปร่าง 7 ลักษณะ และวัดสัดส่วนรูปร่าง 16 ลักษณะ เปรียบเทียบความแปรผันทางสัณฐานวิทยาด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติหลายตัวแปร ได้แก่ การวิเคราะห์ permutational multivariate analysis of variance (PERMANOVA) การวิเคราะห์องค์ประกอบหลัก (Principal component analysis, PCA) และการวิเคราะห์การจำแนกประเภทเชิงเส้น (Linear discriminant analysis, LDA) เพื่อนำไปใช้ในการระบุชนิดกลุ่มประชากร นอกจากนี้ยังวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างความยาวและน้ำหนักตามปัจจัยเงื่อนไข ผลการศึกษาตัวอย่างกลุ่มประชากรปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์จากทะเลสาบสงขลา จำนวน 297 ตัว และกลุ่มประชากรปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์จากแม่น้ำบางปะกง จำนวน 110 ตัว พบว่าการวิเคราะห์ permutational multivariate analysis of variance (PERMANOVA) พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติตามเพศและสิ่งแวดล้อม (p < 0.05) การวิเคราะห์องค์ประกอบหลัก (PCA) ของตัวแปรลักษณะการนับและตัวแปรลักษณะการวัด แสดงความสัมพันธ์ในระดับสูง ยกเว้นความยาวหาง การวิเคราะห์การจำแนกประเภทเชิงเส้น (Linear discriminant analysis, LDA) มีความแม่นยำสูงในการทำนายแยกสองกลุ่มประชากร อย่างไรก็ตาม พบความสำเร็จต่ำในการทำนายเมื่อใช้ตัวแปรลักษณะการนับเพื่อแยกแยะกลุ่มตัวอย่างในเพศและสิ่งแวดล้อม ผลการศึกษาสมการความสัมพันธ์ระหว่างความยาวและน้ำหนัก พบว่าประชากรปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์ทะเลสาบสงขลามีสมการรูปแบบการเติบโตแบบ positive allometric growth และประชากรปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์แม่น้ำบางปะกงมีสมการรูปแบบการเติบโตแบบ negative allometric growth แสดงให้เห็นว่าประชากรปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์ทะเลสาบสงขลามีความสมบูรณ์ของร่างการและการเติบโตที่ดีกว่าประชากรปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์แม่น้ำบางปะกง และการศึกษานี้พบว่าตัวแปรลักษณะการวัดทางสัณฐานวิทยาสามารถแยกกลุ่มประชากรของปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์ได้แม่นยำกว่าตัวแปรลักษณะการนับทางสัณฐานวิทยา ส่วนความแตกต่างในความสัมพันธ์ระหว่างความยาวและน้ำหนักแสดงถึงผลกระทบความแตกต่างจากสภาพทางภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม |
Title Alternate | Study on morphological variation of Doryichthys boaja (Bleeker, 1850) |